สถานการณ์น้ำท่วมที่ยังรุนแรงในหลายพื้นที่ ได้สร้างความเสียหายมหาศาลแก่พื้นที่การเกษตรและทรัพย์สินของประชาชน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าวหยุดชะงักลง
โดยศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ คาดว่า ปีนี้อาจมีพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม 8.6 ล้านไร่ สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินราว 3,100 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 43,000 ล้านบาท (กรณีฐาน) ทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมรวมกันอยู่ที่ 46,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.27% ของ GDP
ล่าสุดวันนี้ 1 ต.ค. 2567 ครม. มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสิน จำนวน 50,000 ล้านบาท จากวงเงิน 100,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มรายย่อย อาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระทำให้ขาดรายได้และมีปัญหาด้านสภาพคล่อง ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขและบรรเทาลงก่อนที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
กระทรวงการคลังได้เสนอเรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสิน ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 มีมติเห็นชอบแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
จัดสรรวงเงินจำนวน 50,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ
โดยธนาคารออมสินมีหน้าที่สนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี วงเงินต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน และภายใต้วงเงินดังกล่าว ธนาคารออมสินสามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยโดยตรง ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกัน
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถยื่นขอสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 โดยให้เบิกจ่ายสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2568
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังออกมาตรการช่วยเหลือโดยการพักหนี้อัตโนมัติ พักจ่ายเงินต้นและไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2567 ให้กับสินเชื่อ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ธนาคารออมสินในพื้นที่ประสบภัยได้กว่า 110,000 บัญชี คิดเป็นเงินต้นรวมกว่า 43,000 ล้านบาท
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney