ผลกระทบ “เงินบาท” แข็งค่า ที่มีต่อภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความกังวล เนื่องจากในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ โดยล่าสุดแข็งค่าขึ้น 6.28% ตั้งแต่ต้นปี และเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลายในภูมิภาคในไตรมาส 3/2567 พบว่าบาทแข็งค่าเกือบ 12% เป็นรองเพียงริงกิตมาเลเซียเท่านั้น
ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธปท. เปิดเผยว่า เงินบาทที่แข็งค่าเร็วขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวลง และธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรดอกเบี้ยขาลง ประกอบกับเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น จากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่มีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่นเดียวกับเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นหนุน sentiment ตลาดการเงิน เนื่องจากบาทเป็นหนึ่งในสกุลเงินร่วมภูมิภาค หากสกุลเงินเยนและหยวนแข็งค่าขึ้น เงินบาทก็มีแนวโน้มแข็งค่าตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสกุลเงินเพื่อนบ้าน ไทยแข็งค่าอยู่ในอันดับ 2-3 ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่แข็งค่านำภูมิภาค โดยอันดับ 1 เป็นริงกิตมาเลเซีย ที่ปัจจุบันแข็งค่านำทุกสกุลเงินในภูมิภาคที่ 11%
นอกจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยังเป็นผลมาจากปัจจัยเฉพาะจากรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ความชัดเจนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ sentiment ตลาดหุ้นปรับดีขึ้น และราคาทองคำ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทุกประเทศเจอเหมือนกัน ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการเข้าไปติดตามสถานการณ์เงินบาทอย่างใกล้ชิด และเข้าดูแลค่าเงิน โดยเฉพาะช่วงที่มีความผันผวนสูง เพื่อลดผลกระทบ สะท้อนผ่านทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นมาจากหลายส่วน ไม่ได้เป็นผลจากการแทรกแซงค่าเงินเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งมาจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ทำให้การตีราคาสินทรัพย์ใน (valuation) ในทุนสำรองปรับเพิ่มขึ้นตาม
ธปท.มีการดูแลเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งคืออัตราแลกเปลี่ยนเป็นปกติอยู่แล้ว สิ่งหนึ่งที่เข้าไปดู คือการทำงานของตลาด เมื่อปัจจัยภายนอกเปลี่ยนแปลง จนกระทบค่าเงิน ไม่ได้กระทบแค่การทำธุรกรรม แต่นักลงทุนยังมีการปรับราคาตลาดของคู่สกุลเงิน (Quote Price) ค่อนข้างแรง จากหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบ ทำให้มีความผันผวนสูง ทั้งนี้หากการปรับเปลี่ยนด้านราคา และธุรกรรมส่งผลให้อุปสงค์และอุปทานทำงานผิดปกติ จนเกิดความผันผวนที่รุนแรง ธปท.จะต้องเข้าไปดูแล
ในแง่ของผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า จะแบ่งการพิจารณาเป็น 2 ส่วน
1. Conversion การแปลงสกุลเงินต่างประเทศกลับมาเป็นเงินบาท ถ้าตั้งราคาขายเท่าเดิม ผู้ส่งออกจะได้รับรายได้ในรูปแบบเงินบาทน้อยลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจ เช่น กลุ่มธุรกิจส่งออกที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเยอะ ซึ่งได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากแม้รายได้จะลดลง แต่ก็จะมีต้นทุนการนำเข้าเครื่องจักรที่ถูกลงไปด้วย ในขณะที่กลุ่มที่นำเข้าสินค้าน้อย เช่น ธุรกิจเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ผลิตเพื่อส่งออก ก็จะได้รับผลกระทบมากกว่า
2. ความสามารถในการส่งออก
จากสถิติย้อนหลัง พบว่า ทุกครั้งที่บาทแข็งค่าขึ้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ โดยปริมาณการส่งออกของไทย ขึ้นอยู่กับความต้องการสินค้าจากประเทศคู่ค้า
สำหรับการท่องเที่ยวนั้น ธปท.มองว่าอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะไกล (Long haul) มีการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวอยู่แล้ว จึงมีการวางจองที่พักไว้นานแล้วแต่อาจจะมีการปรับการใช้จ่ายบ้าง ทั้งนี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน และมาเลเซีย โดยหากมองในเรื่องค่าเงินนั้น ค่าเงินบาทไม่ได้แพงกว่าค่าเงินทั้งสองประเทศ จึงไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งประเทศอื่น
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney