การซื้อ “ที่อยู่อาศัย” ถือเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ และมาพร้อมความท้าทาย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่สภาพเศรษฐกิจ ไม่เอื้อต่อการสร้างเนื้อสร้างตัว ส่งผลกระทบต่อแผนการซื้อบ้าน/คอนโดฯ แม้ความต้องการ ยังคงมีอยู่ การเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย จึงไม่ใช่สิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ อีกต่อไป
สะท้อนจาก ข้อมูลสำรวจของ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ แพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ ชื่อดัง ที่เผยว่า มีคนไทยเพียง 1 ใน 3 ของผู้ที่วางแผนซื้อที่อยู่อาศัย ที่ระบุว่ามีการออมเงิน ที่จะซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง
แต่ลึกลงไป พบประเด็น “เงินเก็บ” ที่มี กลับสวนทางราคาบ้าน ทำให้บางส่วนเลือกที่จะเช่าอยู่ มากกว่า ซื้ออยู่ หลังมากกว่าครึ่ง (56%) เผยว่ามีเงินเก็บไม่พอ ที่จะซื้อที่อยู่อาศัย ขณะที่ราคาบ้านที่สูงเกินไป
ทำให้เกือบ 2 ใน 5 (37%) ขอเลือกออมเงินแทน และ 36% มองไม่เห็นความจำเป็น/ความเร่งด่วนที่ต้องซื้อที่อยู่อาศัยในเวลานี้ สะท้อนให้เห็นว่าผู้เช่าส่วนใหญ่ยังคงกังวลเกี่ยวกับการบริหารสภาพคล่องทางการเงินในยุคที่แนวโน้มเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง จึงลดความเสี่ยงโดยหลีกเลี่ยงการซื้อที่อยู่อาศัย และหันมาเลือกเช่าซึ่งตอบโจทย์ทางการเงินและลดภาระค่าใช้จ่ายได้ดีกว่า
สภาพคล่องทางการเงิน กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ ที่ทำให้การมีบ้านในฝันไม่ใช่เรื่องง่าย มากกว่าครึ่งของผู้บริโภค (56%) เผยว่าอุปสรรคสำคัญในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาจากรายได้และอาชีพที่ไม่มั่นคง
รองลงมา คือ มีประวัติทางการเงินที่ไม่ดี 41% และมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ไม่เอื้ออำนวย 30% จะเห็นได้ว่าอุปสรรคสำคัญ 3 อันดับแรกล้วนเป็นผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของผู้บริโภค ที่มีผลโดยตรงต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคารทั้งสิ้น ทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เผยว่าอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน จากเดิมที่เป็นกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ ปีนี้ ตลาดบ้านใหม่หดตัวรุนแรง ทั้งในเชิง จำนวนโครงการบ้านใหม่ และ ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ ส่งผล สต็อกที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมขาย ในทุกระดับราคา เพิ่มมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกคาดการณ์ว่า ปี2567 อาจมีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ ที่อยู่อาศัยมือสอง ในกทม.-ปริมณฑล มากกว่าบ้านมือหนึ่ง เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และ อาจสูงสุดในรอบ 15 ปี อีกด้วย
โดยระบุว่า แม้ 7 เดือนแรก ของปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.) จะหดตัวราว 1.9% จากปีก่อน แต่มูลค่ารวม อยู่ที่ 49,432 ล้านบาท สูงกว่า ตลาดบ้านมือหนึ่ง ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 43,263 ล้านบาท (รวมคอนโดฯ ,ทาวน์เฮ้าส์ ,บ้านเดี่ยว ,บ้านแฝด และ อาคารพาณิชย์)
เทียบสัดส่วนการโอนฯ ระหว่างบ้านมือหนึ่ง กับ บ้านมือสอง คาดตลอดทั้งปี 2567 บ้านมือสอง จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 54% ต่อเนื่องจากปี 2566 ที่อยู่ระดับ 50% ของตลาดรวมทั้งหมด ซึ่งเมื่อย้อนสถิติย้อนหลัง จะพบว่า เป็นตลาดที่มาแรงมากที่สุดในรอบ 15 ปี ตั้งแต่ปี 2552
ทั้งนี้ มองไปข้างหน้า ตลาดที่อยู่อาศัยมือสอง ยังจะได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อ จากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ และ จดจำนองที่อยู่อาศัย ราคา ทำเล และ รูปแบบ
ที่มา : REIC ,ธปท. , ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ,ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney