“หนี้ครัวเรือน” ยังเป็นระเบิดเวลาที่กัดกินเศรษฐกิจไทย ฉุดรั้งคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ แม้รายได้คนไทยจะฟื้นตัวแล้วหลังโควิด แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนยังสูงถึง 90% ต่อ GDP โดยในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา หนี้ต่อหัวของครัวเรือนเพิ่มขึ้น 60% ทำให้ปัจจุบันคนไทยมีหนี้เฉลี่ยคนละ 540,000 บาท จาก 350,000 บาท โดยหนี้เสียพุ่งสูงขึ้นทะลุ 1.15 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2/2567
ในภาพใหญ่เราเห็นแล้วว่า คนไทยเริ่มมีปัญหาการชำระหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แม้เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัว แต่คำถามคือเมื่อโฟกัสที่ระดับบุคคล คนไทยมีพฤติกรรมการก่อหนี้เปลี่ยนไปอย่างไร จ่ายหนี้ไหวแค่ไหน ในยุคที่ดอกเบี้ยแพง ค่าครองชีพสูง
ก่อนจะไปทำความเข้าใจการ “ก่อหนี้” ในระดับบุคคล เราต้องเข้าใจในภาพใหญ่ก่อนว่า อะไรคือปัจจัยที่ผลักดันให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยมาถึงจุดนี้ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า
1.หนี้โตเร็วจากสินเชื่อที่ไม่ก่อรายได้
จุดเริ่มต้นของวงจรหนี้ เริ่มในปี พ.ศ. 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ บ้านเรือนและธุรกิจได้รับความเสียหายหนัก คนจึงต้องพึ่งพาสินเชื่ออุปโภคบริโภค เพราะรายได้ไม่พอ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ออกนโยบายรถคันแรก ผลักดันให้ความต้องการสินเชื่ออุปโภคบริโภค และสินเชื่อรถยนต์ เติบโตอย่างรวดเร็ว ต่อมาประเทศไทยเข้าสู่ยุคดอกเบี้ยต่ำ กระตุ้นคนก่อหนี้เพิ่ม ผลักดันให้ตลาดสินเชื่อโตขึ้นไปอีก
2.วิกฤติโควิด-19
ท่ามกลางภาวะการเงินของคนไทยเปราะบางขึ้นเรื่อยๆ ถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติโควิดในช่วงปี 2563-2564 หลุมรายได้ที่หายไปจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก ทำให้ในปี 2564 หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 94.7%
3.คนไทยมีปัญหาชำระหนี้
หลังโควิด เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ ทำให้รายได้คนไทยฟื้นตัวช้าไปด้วย โดยเฉพาะอาชีพในภาคบริการ เมื่อรายได้ที่โตไม่ทันรายจ่าย ทำให้คนเริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว กลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น
4.เริ่มเข้าถึงสินเชื่อใหม่ยากขึ้น
เมื่อคนผิดนัดชำระหนี้เยอะขึ้น ธนาคารก็พิจารณาปล่อยสินเชื่อน้อยลง เนื่องจากประเมินแล้วว่าลูกหนี้มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้น คนทั่วไปจึงเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ไม่มีเงินมาต่อยอดสร้างรายได้ ส่งผลกระทบเป็นงูกินหางต่อการชำระหนี้
สอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศ ที่พบว่าประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ระดับสูง จะฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าลง จากปัจจัยข้างต้นก็สะท้อนให้เห็นว่า การก่อหนี้ของทุกภาคส่วน โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบระยะยาว กำลังสร้างกับดักที่ฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศ
เมื่อพิจารณาสถานการณ์หนี้รายบุคคล จากฐานข้อมูลเครดิตบูโร (NCB) พบว่า คนไทยจำนวนมากก่อหนี้ โดยไม่มองผลกระทบระยะยาว โดยลูกหนี้ในระบบ 25 ล้านคน หรือคนไทย 38% ที่มีหนี้ในระบบ มีหนี้เฉลี่ยคนละ 540,000 บาท และส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ กินสัดส่วนมากถึง 76% เมื่อเทียบกับหนี้ประเภทอื่นๆ ซึ่งแตกต่างจากลูกหนี้ในต่างประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นหนี้บ้านและรถ รวมถึงขอสินเชื่อเพื่อนำไปลงทุนต่อยอดรายได้ นอกจากนี้คนไทยยังมีเจ้าหนี้มากกว่า 1 ราย
เมื่อศึกษาสถานการณ์หนี้ (credit risk) ของลูกหนี้ในระบบ 25.2 ล้านคน จากข้อมูลเครดิตบูโร ผ่านมิติพฤติกรรมการชำระหนี้ และศักยภาพการก่อหนี้ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (พ.ค.2566-พ.ค.2567) พบว่า คนไทยจำนวนมากมี “หนี้” แล้วกำลังมี "ปัญหาหนี้" โดย 22% มีหนี้เสีย และอีก 30% มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นหนี้เรื้อรัง เมื่อมาดูศักยภาพการก่อหนี้ พบว่า 46% ของลูกหนี้ในระบบมีหนี้เกินศักยภาพ ทั้งเมื่อนำข้อมูลทั้ง 2 มิติ มาจำแนกกลุ่มลูกหนี้ ตามพฤติกรรมการชำระหนี้ และภาวะหนี้เกินศักยภาพ สามารถแบ่งลูกหนี้ได้เป็น 6 กลุ่ม
1.กลุ่ม Healthy จ่ายหนี้ได้ปกติ มีหนี้ตามศักยภาพ มีจำนวน 4.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 25% ของลูกหนี้ในระบบ
2.กลุ่ม Over leverage จ่ายหนี้ได้ปกติ แต่เริ่มมีหนี้เกินตัว มีจำนวน 3.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของลูกหนี้ในระบบ โดยเป็นกลุ่มคนรายได้น้อยที่พึ่งพาสินเชื่อจนหนี้เริ่มเกินศักยภาพ แต่กลับมียอดหนี้คงค้าง และจำนวนบัญชีน้อยที่สุดในบรรดาลูกหนี้กลุ่มอื่น
3.กลุ่ม At risk ยังจ่ายหนี้ได้ แต่เสี่ยงเป็นหนี้เรื้อรัง มีจำนวน 2.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 13% ของลูกหนี้ในระบบ
4.กลุ่ม Constrained มีหนี้เกินตัว และเสี่ยงเป็นหนี้เรื้อรัง จำนวน 4.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 25% ของลูกหนี้ในระบบ
5.กลุ่ม NPL มีหนี้เสียอย่างน้อย 1 สัญญา แต่ยังพอจ่ายหนี้ได้ จำนวน 0.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 1% ของลูกหนี้ในระบบ
6.กลุ่ม Constrained NPL มีหนี้เสียอย่างน้อย 1 สัญญา และมีหนี้เกินตัว จำนวน 3.1 ล้านคน หรือคิดเป็น 16% ของลูกหนี้ในระบบ
ทั้งนี้กลุ่มคนที่เริ่มมี “ปัญหาหนี้” ส่วนใหญ่เป็นคนอายุน้อย และมีรายได้น้อย กระจุกตัวอยู่ในต่างจังหวัด
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney