นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ได้ปรับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ในปีนี้ -1.0 ถึง 0% จากเดิมคาดว่า จะขยายตัว 0 ถึง 1.0% และอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของภาคอุตสาหกรรมคาดว่า จะหดตัว 0.5% ถึงขยายตัว 0.5% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 0.5-1.5% เนื่องจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยมีสัดส่วนสูงถึง 90.8% ของจีดีพี กดดันให้สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะยอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์ใหม่ มีอัตราเร่งขึ้น 20% และยอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์มือสอง มีอัตราเร่งขึ้น 30%
สำหรับหนี้สินของภาคธุรกิจมีสัดส่วนสูงถึง 87.6% ของจีดีพีใกล้เคียงกับหนี้สินภาคครัวเรือน ประกอบกับต้นทุนการผลิต และราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูง และสถานการณ์น้ำท่วมที่แม้ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ แต่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเอ็มพีไอ และแม้ว่าใน 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เอ็มพีไอจะขยายตัวเป็นบวกทุกเดือน แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เอ็มพีไอตลอดทั้งปีนี้กลับมาเป็นบวกได้ อย่างดีก็ขยายตัวได้เพียง 0% เท่านั้น
ขณะเดียวกันมาตรการแจกเงินสด 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบางของรัฐบาลคาดว่า จะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.3% ตามที่กระทรวงการคลังคาดไว้ โดยจะมีผลต่อจีดีพีภาคอุตสาหกรรม 0.1% ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทันที แต่ต้องติดตามว่าเงินดังกล่าวจะหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจกี่รอบ สศอ.คาดหวังว่าจะหมุนเวียนได้อย่างน้อย 3 รอบก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลกระทบจากน้ำท่วมเพื่อประเมินความเสียหายอีกครั้ง เพราะยอมรับว่าบางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ เช่น การผลิตตัวรถยนต์/รถพ่วง ที่จังหวัดเชียงราย การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ จังหวัดพะเยา และการแปรรูปสินค้าเกษตร โกดัง จังหวัดสุโขทัย หากการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมยืดเยื้อ จะยิ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อการผลิตในต่างจังหวัด.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่