“สินเชื่อบ้าน”โตต่ำสุดในรอบ 23 ปี คนรุ่นใหม่ ก่อหนี้เก่ง ปิดโอกาสกู้ ซื้อคอนโดฯได้ต้องมีเงินเท่าไร

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“สินเชื่อบ้าน”โตต่ำสุดในรอบ 23 ปี คนรุ่นใหม่ ก่อหนี้เก่ง ปิดโอกาสกู้ ซื้อคอนโดฯได้ต้องมีเงินเท่าไร

Date Time: 26 ก.ย. 2567 11:10 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน “สินเชื่อบ้าน” ปี 2567 อาจขยายตัวต่ำสุดในรอบ 23 ปี แนวโน้มหนี้เสียเพิ่ม คนรุ่นใหม่ ก่อหนี้ก้อนเล็ก ซื้อรถก่อนซื้อบ้าน ปิดโอกาสกู้ เปิดความเป็นไปได้ การอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัย หากต้องการซื้อคอนโดฯ ราคา 3 ล้านได้ อาจต้องมีเงินเดือน 5 หมื่นบาท ขณะ บ้านราคาระดับกลาง 4.7 ล้าน ผู้กู้ต้องมีรายได้มากกว่า 7 หมื่นบาท

Latest


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกรายงานสถานการณ์สินเชื่อบ้านในระบบแบงก์ โดยประเมินว่าปีนี้ตลาดจะชะลอตัวต่ำสุดในรอบ 23 ปี หลังจากตัวเลขในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเติบโตเพียง 0.8% พร้อมภาพคาดการณ์ในช่วงที่เหลือของปี อาจได้เห็นการรีไฟแนนซ์มากขึ้นในหมู่คนไทย

โดยสาเหตุหลัก ๆ มาจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวทั่วถึง มีผลกระทบต่อรายได้ภาคครัวเรือน และอาจทำให้สัดส่วน NPLs สินเชื่อบ้านในระบบแบงก์ปี 2567 ขยับสูงขึ้นกว่าระดับ 3.90% ต่อสินเชื่อรวม จากระดับ 3.71% ในไตรมาส 2/2567 ซึ่งเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องมากถึง 6 ไตรมาส หลังจากมาตรการผ่อนปรนช่วงโควิด-19 ทยอยสิ้นสุดลง

เจาะยอดคงค้างสินเชื่อบ้านในระบบของแบงก์พาณิชย์ที่ครองส่วนแบ่งอยู่ประมาณ 55-56% ของตลาดสินเชื่อบ้านทั้งหมดนั้น ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา

ท่ามกลางปัญหาอำนาจซื้อและรายได้ของภาคครัวเรือนที่ถดถอยลง สวนทางกับภาระหนี้สินของครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จนทำให้สินเชื่อปล่อยใหม่ของแบงก์พาณิชย์หดตัวลึกทั้งในกลุ่มบ้านแนวราบและคอนโดมิเนียม

อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าสินเชื่อบ้านต่อบัญชีเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ สะท้อนถึงระดับรายได้ของผู้กู้ที่ขยับสูงขึ้น เพราะผู้กู้กลุ่มนี้มีความยืดหยุ่นต่อความเสี่ยงและผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมต่อรายได้และค่าครองชีพมากกว่า

ขณะเดียวกัน ภายใต้สินเชื่อบ้านใหม่หดตัว แต่สินเชื่อรีไฟแนนซ์กลับมีอัตราการขยายตัวเป็นบวก

สัดส่วนสินเชื่อปล่อยใหม่ Q2/67

  • แนวราบ 58%
  • รีไฟแนนซ์ 21.3%
  • คอนโดฯ 20.7%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ มองออกไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ยอดคงค้างสินเชื่อบ้านที่ปล่อยโดยแบงก์พาณิชย์จะขยายตัวไม่เกิน 1.2% ซึ่งนี่ถือเป็นอัตราการเติบโตรายปีของสินเชื่อบ้านระบบแบงก์ที่ต่ำสุดในรอบ 23 ปี

เนื่องจากปัญหาด้านรายได้และภาระหนี้สินสูงซึ่งกระทบความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหญ่ของครัวเรือน โดยเฉพาะตลาดใหม่อย่างเช่นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มจากหนี้ก้อนเล็ก ๆ และหนี้รถ จนทำให้โอกาสการก่อหนี้บ้านลดลง

แต่ที่น่ากังวลคือตลาดสินเชื่อบ้านมีโอกาสติดกับดักปัญหาหนี้ที่ดัน NPLs หรือหนี้เสียให้เพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะหนี้ Stage 2 และ NPLs ในบ้านระดับราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ที่เริ่มขยับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2566

รวมไปถึงหนี้ Stage 2 ในกลุ่มบ้านระดับราคา 10-50 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยภาพดังกล่าวอาจสะท้อนปัญหาการชำระหนี้ที่น่าจะกระจายมาที่ลูกหนี้ระดับรายได้ปานกลาง และลูกหนี้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กู้บ้านระดับราคาค่อนข้างสูงมากขึ้น

“ความสามารถในการกู้ยืมเทียบกับค่าเฉลี่ยราคาบ้านแนวราบและคอนโดฯ ล่าสุดนั้น พบว่าผู้กู้จะต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนราว 5 หมื่นบาท สำหรับการซื้อคอนโดฯ ราคา 3 ล้านบาท และ 7.6 หมื่นบาทต่อเดือน สำหรับบ้านแนวราบ (รวมการกู้ร่วม) ราคา 4.6 ล้านบาท ซึ่งการคำนวณเบื้องต้นนี้ยังไม่รวมกรณีที่ผู้กู้มีภาระหนี้อื่น ๆ ร่วมด้วย”

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ