เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยมีตัวเลขสูงถึง 1.86 ล้านคัน ซึ่งถือเป็นยอดขายที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปีของไทย เพิ่มขึ้น 9.8%
ภาคการผลิต การเกษตร ตลอดจนการส่งออกโดยรวมที่ฟื้นตัวหลังวิกฤติโควิด-19 ได้ส่งผลให้ตลาดดังกล่าวกลับมาขยายตัวแรงในรถทุกขนาด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกระบอกสูบ 126 – 250 cc และกลุ่มที่มีกระบอกสูบตั้งแต่ 251 cc ขึ้นไป หรือรถบิ๊กไบค์ ที่มียอดขายเติบโตกระโดด 44.8%
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันได้กลับมาอยู่ในภาวะท้าทายอีกครั้ง โดยวิจัยธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ออกรายงานว่า ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ได้ส่งผลกระทบต่อยอดซื้อ-ขายรถจักรยานยนต์อย่างชัดเจน ตั้งแต่ช่วงหลังของไตรมาส 4 ปี 2566 ขณะที่ 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2567 มียอดขายสะสมอยู่ที่ 1.03 ล้านคันเท่านั้น ซึ่งร่วงลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมากถึง 9.8%
ทั้งนี้ มาจากระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ได้ส่งผลให้สถาบันการเงินมีแนวโน้มควบคุมการให้สินเชื่อยานยนต์และจักรยานยนต์อย่างเข้มงวด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์มีการชะลอตัวในเกือบทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่บิ๊กไบค์ที่เคยขยายตัวแรงเมื่อปีก่อน
เจาะข้อมูลยอดจดทะเบียนรถใหม่ป้ายแดงของกรมการขนส่งทางบกก็มีความสอดคล้องกัน อีกทั้งพบว่ายอดขายในตลาดภูมิภาคปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน
“แม้ระดับหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2567 ลดต่ำลงมาอยู่ที่ 90.8% ของ GDP แต่ก็ยังเป็นระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินควบคุมการให้สินเชื่อ ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงสินเชื่อยานยนต์อย่างเข้มงวด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เหล่านี้”
ขณะส่วนแบ่งของตลาด อันดับ 1 ยังคงเป็นฮอนด้า ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 78.1% ของยอดจดทะเบียนรถป้ายแดงทั้งปี 2566 เช่นเดียวกับ 7 เดือนแรกของปีนี้
ส่วนตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ถูกกระตุ้นโดยมาตรการสนับสนุนยานยนต์ EV โดยรัฐ ทำให้ยอด 7 เดือนแรกมาอยู่ที่ 16,018 คัน เติบโตขึ้น 38.7% โดยค่าย LION สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดแทน DECO ได้ ด้วยยอดจดทะเบียน 4,045 คัน
ทั้งนี้ วิจัยแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ คาดการณ์ว่า ธุรกิจขายรถจักรยานยนต์ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้ม “Negative” จากกำลังซื้อคนไทยที่ชะลอตัว ซึ่งอาจลากยาวไปถึงปี 2568
อย่างไรก็ตาม หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น ทิศทางอัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลง และมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดต่ำลง ก็อาจช่วยผ่อนคลายการควบคุมการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินลงได้ในอนาคต
ที่มา : กรมการขนส่งทางบก ,วิจัย LH
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney