วิกฤติเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ “การแข่งขันทางการค้าไม่เป็นธรรม” เมื่อกลุ่มธุรกิจทุนขนาดใหญ่ใช้แรงจูงใจเอื้อประโยชน์ให้ “ผู้มีอำนาจทางการเมือง” เป็นช่องทางลัดเข้าครอบงำผูกขาดกลไกตลาดสร้างรายได้ในการประกอบธุรกิจกระจุกตัวอยู่กับ “เจ้าสัว” ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีเพียงไม่กี่ราย
กระทั่งกลายเป็น “การปิดกั้นโอกาสการเติบโตธุรกิจขนาดย่อม” นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำของรายได้เป็นช่องว่างคนจน และคนรวยถ่างมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนผ่าน รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในงานเสวนารัฐบาลใหม่เร่งฟื้นเศรษฐกิจเพื่อใคร จัดโดยขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนว่า
ตามที่ปรากฏภาพถ่าย “ความสัมพันธ์ผู้มีอำนาจทางการเมืองกับกลุ่มทุนใหญ่” ได้ทำให้เห็นการผูกขาดทางธุรกิจชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะนายทุนใหญ่ของไทยที่ทำธุรกิจแบบเก่าดั้งเดิมกลับมีฐานะร่ำรวยกว่ามหาเศรษฐีของเกาหลีใต้อันทำธุรกิจใช้เทคโนโลยีซับซ้อนขั้นสูง แต่ว่า GDP ต่อหัวเกาหลีใต้กลับมากกว่าของไทยเกือบ 5 เท่า
สิ่งนี้เกิดจากความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มทุนใหญ่ที่ถูกเรียกว่า “ความสัมพันธ์แบบกินรวบ” มีทุนผูกขาดไม่กี่รายสามารถเข้าถึงอำนาจรัฐแล้วแสวงหาผลกำไรอันเป็นรูปแบบที่มีมานานในประเทศไทย
ถ้าดูประวัติศาสตร์ “นายทุนเข้าหากลุ่มการเมือง” ก็เพื่อต้องการกระจายเข้าไปอยู่ในระบบอุปถัมภ์ด้วยการเชิญทหาร นักการเมือง ข้าราชการระดับสูงเข้าเป็นประธาน และกรรมการบริษัทให้เข้าไปอยู่ระบบสายธุรกิจ
ทั้งยังมีรูปแบบข้าราชการฯ ตั้งบริษัทลูกผสม และรัฐวิสาหกิจแล้วเชิญนายทุนเป็นผู้บริหารเรียกว่า “ระบบกินแบ่ง” เพราะสมัยก่อนผู้มีอำนาจทางการเมืองแบ่งออกหลายกลุ่มแข่งขันกันสูงจนไม่มีใครผูกขาดอำนาจได้
แต่ปัจจุบันเงื่อนไขการเมืองวิวัฒน์เปลี่ยนไปนับตั้งแต่ รธน.2540 ที่ถูกออกแบบมาให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะขึ้น “เป็นรัฐบาลให้มีอำนาจสูงมาก” จนทำให้นักธุรกิจมีตัวเลือกในการเดินเข้าหาผู้มีอำนาจได้ไม่กี่กลุ่มเท่านั้น “กลายเป็นระบบกินรวบ” ส่วนใครเข้าไม่ถึงอำนาจวงในก็มักจะไม่ได้ส่วนแบ่งนั้น
แล้วกรณี ทำรัฐประหาร ยิ่งเกิดการรวบอำนาจมากยิ่งขึ้น แม้มี รธน.2560 ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญได้ “ระบอบอำนาจนิยม” ยังกระจุกตัวต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ในลักษณะการรวมศูนย์อำนาจไม่กระจายสู่ท้องถิ่นเช่นนี้นายทุนต้องการผูกขาดกินรวบทั้งประเทศแค่เพียงเข้าหาคนในรัฐบาลคนเดียวก็สามารถกินรวบได้ทั้งหมด
หากมาดู “ระดับการผูกขาดกินรวบ” ก็มีตัวเลขกลุ่มทุนที่ใหญ่ที่สุด 5%ของประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ค้าปลีกค้าส่ง พลังงาน ผลิตก๊าซ พลาสติก น้ำตาล และปูนซีเมนต์มีรายได้ 90% ของรายรับทางธุรกิจเพิ่มขึ้นจาก 85% ในปี 2547 อย่าง กลุ่มธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์บริษัทเดียวมีส่วนแบ่งการตลาด 39%
แล้วยังมีธุรกิจร้านค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อมีรายได้ 86% ในส่วนบริษัทอื่นทั่วประเทศ 90% จะได้ส่วนแบ่งรายรับเพียง 10% สิ่งนี้นำมาซึ่งบริษัทขนาดใหญ่มีอำนาจเหนือการตลาดสามารถกำหนดราคาสินค้าได้เอง
เรื่องนี้มีงานวิจัยชี้ชัดว่า “บริษัทกระจุกตัวผูกขาดสูง” มีผลเชิงลบระบบเศรษฐกิจอัตราเติบโตผลิตภาพแรงงาน หรือประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ส่งออกและอยู่รอดในต่างประเทศต่ำ ประเทศปลายทางส่งออกมีน้อย แนวโน้มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่น้อย “การลงทุนต่ำ” กลายเป็นผลลบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศแทบทั้งสิ้น
ยิ่งกว่านั้นเมื่อ “บริษัทขนาดใหญ่ผูกขาดตลาดครึ่งหนึ่งของประเทศ” สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำแล้ว “มักไม่คิดจะออกไปแข่งขันนอกประเทศ” เพราะคุ้นชินกับการหารายได้แบบเดิมง่ายๆ ไม่ต้องปรับปรุงบริษัท หรือเพิ่มการลงทุนสร้างนวัตกรรมผลิตสินค้าใหม่ๆ แม้ต้องการออกไปแข่งขันก็สู้ภายนอกไม่ได้
สิ่งนี้กำลังทำให้ “ประเทศไทยสูญเสียการแข่งขัน” สังเกตจากสินค้าอุตสาหกรรมไทยแข่งขันกับประเทศอื่นได้ต่ำลงมาก “โดยเฉพาะจีนผลิตรถไฟฟ้ามาช่วงชิงตลาด” จนการผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของไทยมีแรงงาน 7 แสนคนนั้น ในปี 2566 “ยอดขายหายไป 20%” ทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วงอย่างมาก
แม้แต่ข้าวไทยยังแพ้ข้าวเวียดนามไปแล้ว “เหตุจากนายทุน ผู้กุมธุรกิจในไทยไม่สนใจลงทุนระยะยาว” ทำให้เกิดผลกำไรน้อยส่งผลให้เศรษฐกิจโตอย่างช้าๆ เรื่องนี้ประวัติศาสตร์เชิงเศรษฐกิจไทยก็ชี้แบบนี้มาตลอด
ผลที่จะตามมาคือ “หนุ่มสาวคนเก่งๆ มีความรู้ความสามารถ” จะย้ายไปทำงานต่างประเทศหมด สุดท้ายจะเหลือเฉพาะคนไม่มีทางไปเท่านั้น ขณะที่ “ผู้มีอำนาจทางการเมือง” ก็สายตาสั้นไม่มองการณ์ไกลจนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ ดังนั้นการแก้ไขต้องทำให้ระบบการเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเห็นหัวประชาชน
“ตอนนี้ถ้ามองทุกภาคการผลิตของไทยนั้นกำลังการแข่งขัน สู้ต่างประเทศไม่ได้เลยจนเศรษฐกิจต้องเติบโตไปอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับก่อนปี 2540 เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมากปีละ 7% แต่พอหลังวิกฤติต้มยำกุ้งลดลงมาเหลือปีละ 5% แต่พอก่อนโควิด-19 ระบาดเศรษฐกิจโต 3% ปัจจุบันลดลงต่ำกว่า 3% แล้ว” รศ.ดร.อภิชาต ว่า
ปัญหามีอยู่ว่า “ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์” โดยมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทำให้สวัสดิการรักษาพยาบาลต้องเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นสถานการณ์ไม่สอดรับกับเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตไปอย่างช้าๆ เช่นนี้แล้วรัฐบาลจะนำเงินจากที่ใดมาเพื่อใช้เป็นสวัสดิการเหล่านี้
ยกตัวอย่างเช่น “กองทุนประกันสังคมจะมีเงินช่วยอุดหนุนนานเพียงใด” เพราะที่ผ่านมารัฐบาลจ่ายสมทบเข้ากองทุนไม่ครบมาตลอดทำให้สถานการณ์นี้เข้าสู่ “สังคมเศรษฐกิจภายใต้หม้อต้มกบ” เพราะเวลาต้มกบน้ำจะเดือดขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้กบตายลงอย่างช้าๆ โดยที่ไม่รู้ตัว แตกต่างจากวิกฤติต้มย้ำกุ้งที่กระทบแบบทันทีทันใด
เหตุนี้ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดขึ้นมาเป็น “รัฐบาล” ก็ตามต้องเผชิญปัญหาที่หนักมากนี้แม้แต่จะลากรถถังออกมาทำรัฐประหารก็ไม่อาจหลีกพ้นปัญหาไปได้ “แถมยิ่งทำให้สถานการณ์แย่มากกว่าเดิม” เพราะการรัฐประหารครั้งที่แล้วได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าสู่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจภายใต้หม้อต้มกบมาต่อเนื่องอย่างช้าๆแล้ว
ทำให้ช่วง 9-10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่มีผู้ดูแลจนปัญหาน่าจะแก้ได้ง่ายตอนนั้นมาถึงวันนี้ก็แก้ไขยากแล้ว “สิ่งนี้เป็นต้นทุนของรัฐประหารในทางเศรษฐกิจ” หากทำรัฐประหารอีกยิ่งกระตุ้นน้ำในหม้อต้มกบเดือดเร็วขึ้น
นี่คือ “ปัญหาผูกขาดระบบการค้าไทย” นับวันยิ่งทรงพลังทางเศรษฐกิจมากจนเกิดความเหลื่อมล้ำต่อธุรกิจขนาดกลาง– ขนาดย่อมที่เป็นแหล่งรายได้ของคนส่วนใหญ่กำลังมีพื้นที่ทำกินลดน้อยลง
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม