ส่งออกพินาศ 5 หมื่นล้าน หอการค้าย้ำ “คลัง-ธปท.” ต้องแก้บาทแข็ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ส่งออกพินาศ 5 หมื่นล้าน หอการค้าย้ำ “คลัง-ธปท.” ต้องแก้บาทแข็ง

Date Time: 24 ก.ย. 2567 08:29 น.

Summary

  • “หอการค้าไทย”–จี้รัฐบาลแก้ปมบาทแข็งค่า ย้ำแข็งรุนแรง รวดเร็ว จาก 37 บาท/เหรียญ มาอยู่ที่ 33 บาท/เหรียญ ทำส่งออกอาหาร เกษตร สูญเสียรายได้จากการส่งออกแล้ว 5 หมื่นล้านบาท คาดจนถึงสิ้นปีอาจเสียหายหนักถึง 1.3 แสนล้านบาท

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“หอการค้าไทย”–จี้รัฐบาลแก้ปมบาทแข็งค่า ย้ำแข็งรุนแรง รวดเร็ว จาก 37 บาท/เหรียญ มาอยู่ที่ 33 บาท/เหรียญ ทำส่งออกอาหาร เกษตร สูญเสียรายได้จากการส่งออกแล้ว 5 หมื่นล้านบาท คาดจนถึงสิ้นปีอาจเสียหายหนักถึง 1.3 แสนล้านบาท ยืนยัน “คลัง-ธปท.” ต้องร่วมมือแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะ กนง.ควรลดดอกเบี้ยฝ่าพิษค่าบาท

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วรุนแรง และในระยะเวลาสั้น โดยตั้งแต่ต้นปีเคลื่อนไหวอยู่กว่า 37 บาท/เหรียญสหรัฐฯ และแข็งค่าขึ้นเป็น 36 บาทกว่า/เหรียญ มาสัปดาห์ที่แล้ว 33 บาท/เหรียญ ล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 23 ก.ย.อยู่ที่ 32.91 บาท/เหรียญ หรือแข็งค่าเฉลี่ยกว่า 10-12%

ทำให้กระทบต่อขีดความสามารถด้านการแข่งขันราคาส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก อาทิ ข้าว เกษตร เกษตรแปรรูป อย่างไก่ อาหารกระป๋อง ที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว 50,000 ล้านบาท อีกทั้งยังกระทบต่อการท่องเที่ยว ภาคบริการ ที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการตัดสินใจมาเที่ยวไทย เพราะราคาสินค้าและบริการแพงขึ้นกว่าปกติ เงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วรุนแรงทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบแล้ว เพราะส่วนใหญ่เป็นการขายออเดอร์ล่วงหน้าหลายเดือน ผู้ส่งออกรายใดที่ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ไม่ทันก็ขาดทุนแล้ว จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการส่งออก ประมาณ 34 บาท/ เหรียญ บวกลบ และทำให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนอย่างรุนแรงจนเกินไป

ลดดอกเบี้ยตรึงค่าบาทไม่ให้แข็งค่า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่ามาอยู่ที่ 33 บาท/เหรียญ ทำให้รายได้จากการส่งออกของกลุ่มเกษตร เกษตรแปรรูป หายไป 50,000 ล้านบาท หากยังแข็งค่าอยู่ระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปีนี้จะทำให้รายได้จากการส่งออกของกลุ่มนี้หายไป 130,000 ล้านบาท หรือ 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ใกล้เคียงกับเม็ดเงินที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจจากโครงการเงินดิจิทัลที่รัฐบาลให้กับกลุ่มเปราะบางก่อน ที่ 45,000 ล้านบาท แม้รายได้ที่หายไปยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจปีนี้ แต่อาจส่งผลกระทบได้ในปีหน้า โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ 2.6-2.8% เพราะมีเงินจากเงินดิจิทัลเข้ามาช่วยกระตุ้น

“ตอนนี้มีสัญญาณที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีก เพราะหากเศรษฐกิจไทยดีตามเศรษฐกิจโลก ก็มีเงินไหลเข้ามาในไทยอีก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องพิจารณาถึงการลดดอกเบี้ย เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็วและแรง ที่ 0.50% จึงเห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ กนง.ควรปรับลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ช่วยให้ภาคการส่งออก ภาคท่องเที่ยวและบริการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น”

หอการค้าหารือด่วน “คลัง-ธปท.”

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออก กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจาก 36 บาท เป็น 33 บาท/เหรียญ ขณะนี้ทำให้รายได้จากการส่งออกของไก่หายไปแล้ว 10% หรือหายไปแล้วเดือนละ 1,000 ล้านบาท ถ้าจนถึงเดือน ธ.ค.จะหายไป 5,000-6,000 ล้านบาท ทำให้ราคาไก่มีชีวิตลดลงจากเดิมกิโลกรัม (กก.) ละ 44 บาท ขณะนี้เหลือ 40 บาท แต่ต้นทุนของเกษตรกรอยู่ที่ กก.ละ 41-42 บาท เกษตรกรขาดทุนแล้ว อีกทั้งกระทบเป็นห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หรือตั้งแต่วัตถุดิบอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยง โรงเชือด ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่าง บราซิล ผู้ส่งออกไก่อันดับ 1 ของโลก ค่าเงินอ่อนค่า 3-4% ทำให้ไทยแข่งขันยาก ต้องลดราคาแข่ง ซึ่งก็จะขาดทุน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในเร็วๆนี้หอการค้าไทยจะนัดหารือกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ช่วยหาทางแก้ปัญหาค่าเงินบาท รวมถึงหนี้ของประชาชนและเอสเอ็มอีที่ฉุดกำลังซื้อในประเทศ อีกทั้งอยากเห็นกระทรวงการคลัง และ ธปท.จับเข่าคุยกัน เพราะทั้ง 2 หน่วยงานจะมีข้อมูลในเชิงลึก ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจดำเนินมาตรการ

“เรามีจุดยืนให้ ธปท.และกระทรวงการคลังไปคุยกัน เชื่อว่า กนง.มีข้อมูลที่ดี คงไม่พลาดเหมือนกับในช่วงต้มยำกุ้ง และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันจะยื่นสมุดปกขาวให้กับนายกรัฐมนตรี ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ”.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ