สำรวจกันดู! คุณเป็น “ลูกหนี้” ประเภทไหน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สำรวจกันดู! คุณเป็น “ลูกหนี้” ประเภทไหน

Date Time: 24 ก.ย. 2567 06:22 น.

Summary

  • “ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง” เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายแสดงความเป็นห่วงมาสักระยะ และรัฐบาลเองก็ประกาศว่า การแก้หนี้ครัวเรือนจะต้องทำให้สำเร็จเพื่อให้คนไทยกลับมามีพลังใช้จ่าย และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

Latest

"สถิตย์" ย้ำกฎหมายแกร่ง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไร้อำนาจแทรกแซง นโยบายการเงิน - ปลดผู้ว่าฯ

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง” เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายแสดงความเป็นห่วงมาสักระยะ และรัฐบาลเองก็ประกาศว่า การแก้หนี้ครัวเรือนจะต้องทำให้สำเร็จเพื่อให้คนไทยกลับมามีพลังใช้จ่าย และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา “แบงก์ชาติ” ได้มีการจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 ในหัวข้อ “หนี้ : The Economics of Balancing Today and Tomorrow” ซึ่งมองว่าหนี้ก็คือการเอาเงินอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน แต่การมีหนี้จะต้องสามารถสร้างสมดุลทางการเงิน

ในวันนี้ และอนาคต ไม่ก่อหนี้มากจนเกินตัวจนกลายเป็นปัญหา เหมือน “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ซึ่งทำได้ยากมาก เพราะคนส่วนใหญ่อยากกินเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ ในบทความที่ 1 ซึ่งได้คุยกันในเรื่องคนกับ “หนี้ครัวเรือน” ได้มีการประเมินสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยจากลูกหนี้ 25.2 ล้านคนในเครดิตบูโรไว้ โดยระบุว่า เห็น “สัญญาณอันตราย” ใน 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ มีคนไทยจำนวนมากกว่า 76% มีหนี้ครัวเรือน และหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้อุปโภคบริโภค และมีถึง 43% มีแต่หนี้อุปโภคบริโภคอย่างเดียว ซึ่งหนี้ที่มีอยู่นี้ นอกจากไม่ได้ใช้สร้างรายได้กลับมาเพื่อใช้หนี้แล้ว ที่สำคัญยังต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก

เรื่องที่ 2 ลูกหนี้มากกว่าครึ่ง เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ หรือหลังจากใช้หนี้แล้วเงินตึงมือ หลายคนมีหนี้เกินตัว แบงก์ก็เริ่มไม่ให้กู้เงินเพิ่ม ส่วนเรื่องที่ 3 คือ ลูกหนี้เป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย และมีแนวโน้มเป็นหนี้เรื้อรัง

และหากจะให้แบ่งกลุ่มลูกหนี้คนไทย บทความนี้แยกลูกหนี้ออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ลูกหนี้ปกติที่ชำระหนี้ได้ตามปกติ และมีหนี้ตามศักยภาพ แต่ส่วนนี้มีแค่ 25% ของลูกหนี้ทั้งหมด โดยมีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 450,000 บาทต่อคน และมีหนี้เฉลี่ย 3.6 บัญชี

ขณะที่กลุ่มที่ 2 มีสัดส่วน 20% กลุ่มนี้ก็ยังชำระหนี้ได้ตามปกติ แต่เริ่มมีหนี้เกินศักยภาพ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยที่ใช้สินเชื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก มีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 280,000 บาทต่อคน และมีบัญชีเงินกู้เฉลี่ย 2.3 บัญชี

ถัดมาเป็นกลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 4 ซึ่งในบทความถือว่าเป็นกลุ่มที่ต้องจับตา เพราะอยู่ในความเสี่ยงสูง ที่จะส่งหนี้ไม่ได้ โดยกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่อยู่ในความเสี่ยง ซึ่งมี 13% กลุ่มนี้ก็ยังชำระหนี้ได้ แต่มีหนี้ในระดับที่สูงและเป็นหนี้เรื้อรังที่ปิดจบได้ยาก มีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.12 ล้านบาทต่อคน และมีหนี้เฉลี่ย 5.2 บัญชี

ขณะที่กลุ่มที่ 4 คิดเป็น 25% เป็นกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรังและมีหนี้เกินศักยภาพ มีการผิดนัดชำระหนี้ หรือผ่อนหนี้ขั้นต่ำไม่ครบจำนวน แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย กลุ่มนี้มีหนี้เฉลี่ย 790,000 บาทต่อคน มีหนี้เฉลี่ย 4.8 บัญชีต่อคน ส่วนกลุ่มที่ 5 มี 1% เป็นกลุ่มที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลแล้วแต่อาจกลับมาเป็นหนี้ปกติได้ กลุ่มนี้มีหนี้เฉลี่ย 660,000 บาท และมีหนี้เฉลี่ย 4 บัญชี และกลุ่มที่ 6 มีสัดส่วน 16% เป็นลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล อย่างน้อย 1 สัญญา จากหนี้เฉลี่ยที่มี 3.6 สัญญา

ตัวเลขทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า คุณภาพหนี้ของคนไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดี และหากคุณเป็นหนี้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ แบงก์ชาติแนะนำว่า อย่าอดทนมากเกินไปให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนักให้ลดลง.

มิสเตอร์พี


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ