แบงก์ชาติยังไม่ลดดอกเบี้ย ชี้ปัญหาหนี้เกิดจากนโยบายรัฐ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แบงก์ชาติยังไม่ลดดอกเบี้ย ชี้ปัญหาหนี้เกิดจากนโยบายรัฐ

Date Time: 23 ก.ย. 2567 06:02 น.

Summary

  • การตัดสินใจลดดอกเบี้ย 0.50% ของเฟดครั้งนี้ เพื่อประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ให้เกิดภาวะถดถอย (Recession) แต่ให้ค่อยๆลดลง หรือ Soft Landing เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ก็เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ล่วงหน้า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติ 11 ต่อ 1 ในการประชุมวันที่ 19 ก.ย. เห็นชอบให้ ลดดอกเบี้ยลง 0.50% จาก 5.50–5.25% สู่ระดับ 4.75–5.00% เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี และจะลดลงอีกในการประชุมเดือนหน้าและปลายปีนี้  แต่ธนาคารกลางหลายประเทศไม่ลดดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ เช่น ธนาคารกลางอังกฤษ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5%

ธนาคารกลางญี่ปุ่น  ก็ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.25%  รวมทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย  ผู้ว่าการ ธปท. ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ก็ประกาศว่า ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามเฟดทันที

การตัดสินใจลดดอกเบี้ย 0.50% ของเฟดครั้งนี้ เพื่อประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ให้เกิดภาวะถดถอย  (Recession) แต่ให้ค่อยๆลดลง หรือ Soft Landing เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

วันที่เฟดประกาศลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติมีการจัดสัมมนาใหญ่ทางวิชาการในหัวข้อ “หนี้ : The Economics of Balancing Today and Tomorrow” แปลเป็นไทยให้เข้าใจง่ายๆ คือ “หนี้ : ความสมดุลทางเศรษฐกิจในวันนี้และวันพรุ่งนี้”  ซึ่งผู้ว่าการแบงก์ชาติระบุว่า เป็นการสัมมนาทางวิชาการที่มุ่งตอบคำถามสำคัญ คือ “ปัญหาหนี้” ในสังคมไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเจาะลึกลงไปถึง “ต้นตอของปัญหาหนี้”  พร้อมหาแนวทางในการรักษา “สมดุลระหว่างระยะสั้นและระยะยาว”  เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้หลุดพ้นจากกับดักหนี้เหล่านี้ไปได้

ก็ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการ “เจาะลึกถึงเหตุแห่งการเกิดหนี้” ฟังแล้วก็นึกถึงคำสอนของ พระพุทธองค์ ในเรื่อง อริยสัจ 4 ที่ว่าด้วย เหตุแห่งทุกข์และการดับทุกข์

ดร.เศรษฐพุฒิ  ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ได้ชี้ให้เห็นถึง ต้นเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดการสร้างหนี้ และได้ชี้ให้เห็นถึง หนทางแห่งการแก้หนี้อย่างยั่งยืนด้วย โดยเฉพาะ “ประเทศไทย”  ที่มักให้นํ้าหนักในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากเกินไป  ซึ่งมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า นโยบายเหล่านี้ อาจส่งผลต่อประเทศในระยะยาว เช่น งานวิจัยของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ชี้ให้เห็นว่า นโยบายพักหนี้เกษตรกรในอดีตที่ทำในวงกว้าง ทำต่อเนื่องยาวนานและไม่มีเงื่อนไขการรักษาวินัยทางการเงินที่ดี ส่งผลให้ลูกหนี้กว่า 60% มีโอกาสเป็นหนี้เรื้อรัง และลูกหนี้กว่า 45% มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในทางกลับกัน นโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว ที่อาจต้องแลกมาด้วยต้นทุนในวันนี้ ก็เป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้น เช่น การเพิ่มรายได้จากภาษีในรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้ฐานะการคลังของประเทศยั่งยืนขึ้น หรือ การเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา ทำให้เราสามารถ พัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศให้พร้อมสำหรับวันหน้า  สิ่งต่างๆ เหล่านี้กำลังทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพในระยะยาว ก่อให้เกิด “ปัญหาหนี้” ที่แม้จะไม่ใช่เรา แต่คนที่อยู่ในประเทศของเราต้องแบกรับภาระในอนาคต

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า นโยบายการเงินมีต้นทุนและผลประโยชน์  ผู้ดำเนินนโยบายต้องพยายาม “รักษาสมดุลทั้งในระยะสั้น และระยะยาว” ธนาคารกลางทั่วโลกมีพันธกิจคล้ายคลึงกันคือ ไม่เพียงต้องการเห็นเศรษฐกิจขยายตัว แต่ต้องเสริมสร้างให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วย ธนาคารกลางจึงถูกออกแบบมาเพื่อรองรับนโยบายการเงินที่ต้องให้นํ้าหนักกับเสถียรภาพในระยะยาว

แม้ การกระตุ้นเศรษฐกิจจะสามารถทำได้ผ่านการกำหนดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับตํ่า ซึ่งสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วในระยะสั้น แต่มักต้องแลกมาด้วยเงินเฟ้อ และการสะสมความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจจากการก่อหนี้เกินตัว

หน้าที่ของ “ธนาคารกลาง” จึงต้อง “มองยาว” เพื่อช่วยให้ เศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพในระยะยาว การตัดสินใจที่คำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว จะสร้างต้นทุนให้กับประเทศมากมายในอนาคต และปัญหาหนี้ก็จะสะสมฝังรากลึกขึ้น  แบงก์ชาติจึงต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการผลักดันสังคมไทยให้ “มีหนี้อย่างสมดุล”  เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม ทั้งในวันนี้และวันหน้า ก็หวังว่ารัฐบาลจะมีสายตาที่ยาวพอจะมองเห็นปัญหาเหล่านี้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ