ที่ยืนของ “ธุรกิจไทย” แคบลงทุกที ไทยขาดดุล “จีน” สูงขึ้นเรื่อยๆ นำเข้าสินค้า ผ่าน Shopee - Lazada

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ที่ยืนของ “ธุรกิจไทย” แคบลงทุกที ไทยขาดดุล “จีน” สูงขึ้นเรื่อยๆ นำเข้าสินค้า ผ่าน Shopee - Lazada

Date Time: 20 ก.ย. 2567 11:28 น.

Video

เปิดภารกิจ 3 แบงก์ไทย ใช้ Green Finance ช่วยลูกค้าปรับตัวฝ่า ระเบียบโลกใหม่ | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • เปิดข้อมูล ตลาด e-Commerce ไทย เมื่อจีนเป็นเจ้าของ ที่ยืนของ “ธุรกิจไทย” แคบลงทุกที ไทยขาดดุล “จีน” สูงขึ้นเรื่อยๆ นำเข้าสินค้า ตั้งแต่สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้า ของแต่งบ้าน ผ่านการสั่งซื้อ Shopee - Lazada และเขย่าอีกระลอกใหญ่ด้วย Temu ขณะ Shein /TikTok รุกคืบ คนไทยกำลังจ่ายเงิน ให้กับแพลตฟอร์มต่างชาติ ?

Latest


ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็น “เรื่องใหญ่” ที่กำลังเขย่าทิศทางการอยู่รอดของธุรกิจไทย หลากหลายอุตสาหกรรม หลังจากผู้เล่นหน้าใหม่จากจีนในสมรภูมิค้าปลีกไทยดุเดือดยิ่งกว่าเดิม จากการเข้ามาของ Temu เมื่อไม่นานมานี้ นอกจากนี้ Shein และ TikTok ก็เป็นอีกสองแพลตฟอร์มจากจีนที่กำลังขยายตลาดธุรกิจค้าปลีก e-Commerce ในบ้านเราอย่างวงกว้างอีกด้วย

ข้อมูลจาก KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ฉบับล่าสุด รายงานว่า 3 ปัจจัยที่ทำให้สินค้าจีนเข้ามาสร้างผลกระทบต่อธุรกิจไทย ได้แก่

  1. การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่อยู่ในระดับสูงของประชากรไทย 88% ติดอันดับต้น ๆ ของโลก
  2. สัดส่วนการเข้าถึงสมาร์ทโฟนสูงถึง 77.2% เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 69% ทำให้การซื้อขายของออนไลน์ผ่านมือถือสามารถทำได้อย่างสะดวก และทำให้เครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network) สามารถมีอิทธิพลต่อการซื้อขายผ่าน social commerce ได้มาก
  3. การเข้าถึงช่องทางการชำระเงินออนไลน์ (online payments) ที่หลากหลาย ช่วยสนับสนุนการค้าปลีกออนไลน์ให้มีความสะดวกในต้นทุนที่ต่ำ

นอกจากนี้ โครงข่ายการขนส่งสินค้า (logistics) ที่พัฒนาขึ้นมากและด้วยต้นทุนที่ต่ำลง รวมถึงการแข่งขันอย่างเข้มข้นของธุรกิจ e-Commerce ในหลากหลายช่องทาง ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญของการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ e-Commerce ในประเทศไทย

ไทย "ขาดดุล" จีน มากที่สุด ติดอันดับโลก 

อย่างไรก็ดี การขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของ e-Commerce platform ของจีน ที่เติบโตถึง 10.5% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าโดยรวมปี 2566 อยู่ที่ราว 5.96 ล้านล้านบาท ทำให้การขาดดุลการค้าระหว่างไทยกับจีนเร่งตัวขึ้น จนกลายเป็น 1 ในประเทศที่มีการขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุดนับตั้งแต่หลังโควิด-19 รองจากอินเดีย เม็กซิโก สิงคโปร์ ตุรกี และโปแลนด์

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนและสมาร์ทโฟน ในขณะที่คนไทยมีความคุ้นเคยและนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยพิจารณาจากราคา ไม่ยึดติดกับแบรนด์มากนัก

“การขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นของไทยสะท้อนทั้งการขาดดุลจากการนำเข้าหรือการมาตั้งฐานการผลิตจากจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ และการนำเข้าสำหรับการบริโภคในประเทศ หรือเป็นกรณีที่เกิดการแข่งขันโดยตรงต่อผู้ประกอบการไทย”

“กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นกลุ่มที่ส่งผลให้มีการขาดดุลมากที่สุด โดยสินค้าที่สำคัญที่ไทยนำเข้าจากจีนค่อนข้างมาก คือ สินค้าในกลุ่มสมาร์ทโฟนที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุด โดยเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ผ่าน e-Commerce platform”

ส่วนช่องทางการซื้อขายออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอันดับแรก คือ e-Marketplace เช่น Shopee, Lazada, Kaidee เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าพาณิชย์อยู่ที่ 24.6%

รองลงมา คือ การซื้อขายผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของแต่ละธุรกิจหรือแต่ละแบรนด์สินค้า ซึ่งอาจเรียกว่าช่องทาง Brand.com มีสัดส่วนอยู่ที่ 23.6% และตามมาด้วยช่องทาง Social Commerce เช่น การซื้อขายผ่าน Facebook, TikTok, และ Instagram ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 22.3%

สั่นเคลื่อน ที่ยืนของธุรกิจไทย เมื่อขายแข่งสู้ราคาหน้าโรงงานไม่ได้ 

จากสถานการณ์ข้างต้น KKP Research ประเมินว่า จะทำให้ที่ยืนของธุรกิจไทยแคบลงทุกที ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทยในภาคการผลิตอุตสาหกรรมในหลายกลุ่มสินค้า ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงจากผู้ผลิตจีน ทั้งในตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ โดยไม่สามารถที่จะสู้ราคาที่ถูกมากของสินค้าจากจีนได้

จนจำเป็นต้องปิดโรงงานผลิตในประเทศไป และบางส่วนหันไปนำเข้าสินค้าจากจีนมาขายแทน โดยเฉพาะธุรกิจรายเล็กและกลาง (SMEs) สิ่งที่น่ากังวลคือ การเข้ามาบุกตลาดผู้บริโภคไทยโดยตรงของผู้ผลิตจีน ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีนเอง จะทำให้ผู้ค้าคนกลางของไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs ถูกตัดออกไปจากรูปแบบธุรกิจแบบใหม่นี้ ไม่สามารถซื้อของมาเพื่อขายในราคาถูกเท่ากับที่ขายตรงจากโรงงานจีนได้

แม้กระทั่งธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่เอง ก็อาจจะได้รับผลกระทบไม่น้อย จากการที่ผู้บริโภคจะหันไปซื้อของผ่านช่องทาง e-Commerce จากแพลตฟอร์มเหล่านี้โดยตรงมากยิ่งขึ้น

อีกทั้ง หากมองในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทย เงินที่ผู้บริโภคจ่ายค่าสินค้าให้กับแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้ ก็จะออกไปยังผู้รับค่าสินค้าในต่างประเทศโดยตรง รายได้ไม่ตกอยู่กับผู้ประกอบการและแรงงานไทย ไม่หมุนเวียนในเศรษฐกิจไทย รวมถึงภาครัฐอาจไม่สามารถเก็บภาษีจากการทำธุรกิจเหล่านี้ที่ไม่ได้ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยได้ ซึ่งจะสั่นคลอนทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคตอย่างแน่นอน...

ที่มา :  KKP Research 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ