“ท่าเรือ” ประตูการค้า ธุรกิจที่เล่นกับความเสี่ยง "ราคาพลังงาน" แต่ละปีไทยขนส่งสินค้าอะไรบ้าง ?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“ท่าเรือ” ประตูการค้า ธุรกิจที่เล่นกับความเสี่ยง "ราคาพลังงาน" แต่ละปีไทยขนส่งสินค้าอะไรบ้าง ?

Date Time: 18 ก.ย. 2567 13:41 น.

Video

แก้เกมหุ้นไทยตกต่ำ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนฟื้นความเชื่อมั่น | Money Issue

Summary

  • ทำความรู้จัก ธุรกิจท่าเรือ ประตูการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจที่เล่นกับความเสี่ยง "ราคาพลังงาน" และ สถานการณ์การค้าโลก / การบริโภคภายในประเทศ แต่ละปีไทยขนส่งสินค้าอะไรบ้าง ? ปี 66 ทำรายได้รวม 48,909 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 72% ถูกครองโดยรายใหญ่ในวงการ

Latest


ปัจจุบัน “ท่าเรือแหลมฉบัง” จ.ชลบุรี นับเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ควบตำแหน่งท่าเรือที่สำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ ทำหน้าที่เป็นประตูหน้าด่านของกลไกขนส่ง “สินค้า” ในภาคการค้าระหว่างประเทศ

ท่าเรือที่ทันสมัยถูกเชื่อว่าจะสามารถทำให้การส่งออกและนำเข้าสินค้าทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง ลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่สินค้าไทยในยุคที่โลกการค้าเต็มไปด้วยความท้าทาย

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยไม่ได้มีแค่ท่าเรือแหลมฉบังที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ขนถ่ายสินค้าของประเทศ หากแต่ไทยยังมีท่าเรือบริเวณแม่น้ำอย่าง “ท่าเรือกรุงเทพ” ที่ใช้เพื่อรองรับการค้าภายในประเทศอีกด้วย

ข้อมูลวิจัยของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เผยความสำคัญของธุรกิจ “ท่าเรือ” ว่าความต้องการใช้บริการท่าเรือขนส่งสินค้าจะสอดคล้องไปกับปริมาณการส่งออก/นำเข้าสินค้า และปริมาณการผลิตของภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่ท่าเรือขนส่งสินค้าภายในประเทศมีหน้าที่หลักในการกระจายสินค้าและวัตถุดิบ รวมถึงเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานของการค้าและการผลิตภายในประเทศ สำหรับในปี 2566 พบว่ามีจำนวนเรือสินค้าที่ผ่านท่าเรือบริเวณชายฝั่งทะเลทั้งสิ้น 69,452 เที่ยว หดตัว 0.2%

  • ปี 2561: 74,685 เที่ยว
  • ปี 2562: 69,893 เที่ยว
  • ปี 2563: 63,971 เที่ยว
  • ปี 2564: 76,855 เที่ยว
  • ปี 2565: 69,580 เที่ยว

สำหรับภาพรวมธุรกิจท่าเรือขนส่งสินค้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 พบว่าปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณเรือที่ผ่านท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6,888 เที่ยว หรือคิดเป็น 5.2% สอดคล้องกับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.25 ล้าน TEU หรือคิดเป็น 8.5% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศหลังการคลี่คลายของปัญหาเงินเฟ้อ

ปริมาณเรือที่ผ่านท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง (รายปี)

ปี 2564 (รวม 13,784 เที่ยว)

  • ท่าเรือกรุงเทพ: 4,377 เที่ยว
  • ท่าเรือแหลมฉบัง: 9,407 เที่ยว

ปี 2565 (รวม 13,803 เที่ยว)

  • ท่าเรือกรุงเทพ: 4,440 เที่ยว
  • ท่าเรือแหลมฉบัง: 9,363 เที่ยว

ปี 2566 (รวม 10,961 เที่ยว)

  • ท่าเรือกรุงเทพ: 3,293 เที่ยว
  • ท่าเรือแหลมฉบัง: 7,668 เที่ยว

สำหรับสินค้าสำคัญที่ขนส่งผ่านท่าเรือบริเวณชายฝั่งทะเล ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ คิดเป็นสัดส่วนราว 90% ของปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมด แบ่งเป็น

  • 64.4% ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • 25.5% สินค้าเบ็ดเตล็ด
  • 4.9% เคมีภัณฑ์
  • 3.4% เชื้อเพลิง
  • 2.0% อื่น ๆ

ส่วนโครงสร้างสินค้าที่ขนส่งผ่านท่าเรือบริเวณแม่น้ำ ข้อมูลปี 2566 ประกอบไปด้วย

  • 30.6% เชื้อเพลิง
  • 11.6% ดิน หิน ทราย
  • 11.4% ปุ๋ย
  • 11.3% ซีเมนต์
  • 9.5% มันสำปะหลัง
  • 25.6% อื่น ๆ

การขนส่งสินค้าบริเวณแม่น้ำของไทยจะมีเส้นทางหลักอยู่ 2 เส้นทาง ได้แก่

  • ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
  • ลุ่มแม่น้ำป่าสัก

โดยในปี 2566 พบว่ามีจำนวนเรือสินค้าที่ผ่านท่าเรือบริเวณแม่น้ำทั้งสิ้น 22,456 เที่ยว ลดลง 38.6% YoY ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวและพัฒนาของระบบขนส่งทางบกทั้งทางถนนและทางรางทำให้การขนส่งทางบกมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น

อีกทั้งการขนส่งผ่านแม่น้ำยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่รุนแรง แม่น้ำบางส่วนตื้นเขิน ทำให้เรือต้องใช้เวลาในการเดินทางนานขึ้น

ธุรกิจท่าเรือยังนับเป็นธุรกิจที่อยู่บนความเสี่ยงจากต้นทุนราคาพลังงานและค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมถึงความผันผวนของเงินบาทที่อาจกระทบปริมาณการค้าโลกและปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยให้เติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ได้

เมื่อเจาะสถานการณ์ด้านผู้ประกอบการ ข้อมูลระบบพบว่าในปี 2566 มีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคลและยังเปิดดำเนินการในธุรกิจท่าเรือขนส่งสินค้าทั้งสิ้น 147 ราย ลดลงเล็กน้อยจากปี 2565 ที่มีจำนวน 150 ราย แบ่งเป็น

  • ผู้ประกอบการขนาดใหญ่จำนวน 22 ราย
  • ผู้ประกอบการ SME จำนวน 125 ราย

" ผู้ประกอบการรายใหญ่ครอบครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 72.8% ขณะที่ผู้ประกอบการ SME ต้องแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่เหลืออยู่เพียง 27.2% "

สำหรับในด้านผลการดำเนินงานพบว่าปี 2566 ธุรกิจท่าเรือขนส่งสินค้ามีรายได้รวมทั้งสิ้น 48,909 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.0% อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการทำกำไรพบว่าปรับตัวด้อยลงเล็กน้อย โดยมีอัตรากำไรสุทธิ (NPM) อยู่ที่ระดับ 21.8% ลดลงเล็กน้อยจากปี 2565 ที่อยู่ระดับ 22.9% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการดำเนินงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามระดับราคาพลังงานและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ที่มา : วิจัย LH 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ