วันนี้เคาะแจกเงินหมื่น "ดิจิทัลวอลเล็ต" เฟสแรก “พิชัย” คาดกองทุนซื้อคืนรถไฟฟ้าใช้เงิน 3 แสนล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

วันนี้เคาะแจกเงินหมื่น "ดิจิทัลวอลเล็ต" เฟสแรก “พิชัย” คาดกองทุนซื้อคืนรถไฟฟ้าใช้เงิน 3 แสนล้าน

Date Time: 17 ก.ย. 2567 08:59 น.

Summary

  • วันนี้ 17 ก.ย.67 “คลัง” ชง ครม.เคาะแจกเงินหมื่น เติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เฟสแรก บัตรคนจน–ผู้พิการ 14.5 ล้านคน ทยอยรับเงินตั้งแต่ 25–27 ก.ย. และ 30 ก.ย.นี้ ส่วนเฟส 2 รอก่อน ขณะที่จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า คาดใช้เงิน 3 แสนล้านบาท

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“คลัง” ชง ครม.วันนี้ (17 ก.ย.) เคาะแจกเงินหมื่น เติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เฟสแรก บัตรคนจน–ผู้พิการ 14.5 ล้านคน ทยอยรับเงินตั้งแต่ 25–27 ก.ย. และ 30 ก.ย.นี้ ส่วนเฟส 2 รอก่อน ขณะที่จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า คาดใช้เงิน 3 แสนล้านบาท

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (17 ก.ย.) กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ระยะแรก ซึ่งจะแจกเงินสดผ่านระบบพร้อมเพย์ 10,000 บาท ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้พิการ รวม 14.5 ล้านคน พร้อมรายละเอียดการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร รวมถึงแหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้ในครั้งนี้ “หลัง ครม.อนุมัติจะแถลงข่าวความชัดเจนเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งจำนวนคนที่ได้รับสิทธิ์ แหล่งที่มาของเงิน วันโอนเงินให้กับผู้มีสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 25-27 ก.ย. และวันที่ 30 ก.ย.นี้ เพราะระบบการโอนมีข้อจำกัดโอนได้วันละ 4 ล้านคน”

สำหรับประชาชนที่มีสมาร์ทโฟนได้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐแล้ว 36.4 ล้านคนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบความซ้ำซ้อนว่าซ้ำกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นพบว่า มีความซ้ำซ้อนราว 10 ล้านคน ส่งผลให้ยอดการลงทะเบียนผ่านแอปทางรัฐเหลือ 24-26 ล้านคน เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลจะแจกเงิน เพื่อเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

นายพิชัย กล่าวต่อถึงการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า เพื่อทำให้ค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาทตลอดสายว่า ในเบื้องต้นคาดจะใช้เงินราว 300,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ต้องศึกษาแนวทางการดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล โดยเม็ดเงินที่คาดว่าจะใช้ในกองทุนฯ มาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนของผู้ลงทุนจากการซื้อหน่วยลงทุน และส่วนของผู้ให้กู้ยืม ซึ่งแต่ละส่วนจะมีผลตอบแทนไม่เท่ากัน เพราะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

“การตั้งกองทุนนี้หมายความว่า รัฐบาลไม่ต้องควักเงิน แต่กองทุนต้องรู้ว่า เมื่อลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนเท่าไหร่ ซึ่งรัฐต้องหาผู้สนใจลงทุนและผู้ให้กู้ยืม โดยต้องประเมินถึงจำนวนผู้โดยสารในระยะการลงทุน 5-10 ปี และ 20-30 ปี จะเป็นอย่างไร ต้องวิเคราะห์ประเมินผลให้รอบคอบมากที่สุด”

ส่วนการเปิดขายหน่วยลงทุนประเภท ก. กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ให้ประชาชนทั่วไป เมื่อวันที่ 16 ก.ย.67 ซึ่งเปิดจองวันแรกนั้นคึกคักมาก โดยจะเปิดให้ประชาชนซื้อจองวันที่ 16-20 ก.ย.นี้ หน่วยละ 10 บาท ลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท จัดสรรแบบ Small Lot First ใครจองน้อยได้รับจัดสรรก่อน เพื่อให้ผู้มีเงินออมน้อยได้มีโอกาสซื้อ

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงดิจิทัลวอลเล็ตว่า คาดว่าการลงทะเบียนรับสิทธิ์ ไม่น่าเกิน 40 ล้านคน ซึ่งจะประหยัดเงินได้ราว 100,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดจะมีประชาชนได้รับสิทธิ์ 45 ล้านคน ใช้เงิน 450,000 ล้านบาท สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอปทางรัฐ 36.4 ล้านคนนั้น ต้องเลื่อนประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติออกไปจากเดิมวันที่ 22 ก.ย.นี้ เพราะต้องตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แล้วเสร็จก่อน ส่วนระยะที่ 2 คาดจะเริ่มช่วงต้นปี 68

ส่วนการเปิดขายกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ให้ประชาชนทั่วไปนั้น จะใช้การจัดสรรแบบ Small Lot First และเปิดให้นักลงทุนสถาบันซื้อวันที่ 18-20 ก.ย.นี้ หากครบกำหนดแล้ว คณะกรรมการต้องมาดูอีกครั้งในวันที่ 21 ก.ย.นี้

สำหรับกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก.แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ที่ราคาเสนอขาย 10 บาทต่อหน่วย มูลค่า 100,000-150,000 ล้านบาท โดยเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศ สัดส่วนเสนอขาย 30,000-50,000 ล้านบาท และผู้ลงทุนสถาบันและนิติบุคคลเฉพาะกลุ่ม อาทิ ธนาคารพาณิชย์, บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกัน วินาศภัย ฯลฯ อีก 100,000-120,000 ล้านบาท เวลาลงทุน 10 ปี คุ้มครองผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% ต่อปี และไม่เกินกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นสูง 9% ต่อปี จ่ายปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ