คนไทยเตรียม “รัดเข็มขัด” 3ใน5 เชื่อ เศรษฐกิจไทย ปี68 แย่กว่าปีนี้ หวั่นค่าครองชีพสูง ลูกจ้างผวาสุด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

คนไทยเตรียม “รัดเข็มขัด” 3ใน5 เชื่อ เศรษฐกิจไทย ปี68 แย่กว่าปีนี้ หวั่นค่าครองชีพสูง ลูกจ้างผวาสุด

Date Time: 16 ก.ย. 2567 10:16 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • คนไทยแบกค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูง 18,293 บาท ส่วนใหญ่หมดไปกับค่าเดินทาง, ค่าบ้าน ,ค่าไฟ ขณะ กลุ่มฐานราก กว่า 85% รายได้ไม่เพียงพอ ด้าน SCB EIC ชี้ แนวโน้ม GDP ปีหน้า เติบโตต่ำ 2.6% การบริโภค และลงทุนเอกชน ส่อซบเซา 3ใน5 เชื่อเศรษฐกิจจะแย่กว่าปีนี้ เตรียมรัดเข็มขัด ลดใช้จ่ายสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็น

Latest


ข้อมูลสำรวจ เดือน ส.ค. 2567 ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุ ปัจจุบัน ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเฉลี่ยสูงถึง 18,293 บาท โดย 23.20% เสียไปกับค่าเดินทาง ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง

ขณะอีก 21.89% ใช้จ่ายไปกับค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน รวมแค่ 2 ส่วนข้างต้น เป็นจำนวนเงินมากกว่า 8,000 บาท/เดือน สะท้อนภาพคนไทยแบกรับ “ค่าครองชีพ” ในระดับสูง ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจปี 2567 ฟื้นตัวช้า และไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ ส่งผลต่อระดับรายได้ครัวเรือน และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน

โดย สนค. ยังพบอีกว่า คนไทยระดับฐานราก 85.1% มีมุมมองว่ารายได้ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ และต้องการรายได้เพิ่มมากกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ถึงจะเพียงพอในการครองชีพ

แนวโน้ม เศรษฐกิจปี 2568 โตต่ำ การบริโภคลดลง 

อย่างไรก็ตาม ภาวะที่หลายคนมองว่า “หนักหนา” ในปีนี้ อาจไม่มากเท่าภาพที่หลายคนประเมินว่า ปีหน้า คนไทยจะเหนื่อยกว่านี้ ภายใต้คาดการณ์ GDP ยังคงเติบโตอยู่ในระดับต่ำ โดย SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวแค่ 2.6% จาก 2.5% ในปีนี้เท่านั้น ท่ามกลางการบริโภคและลงทุนเอกชนซบเซา และการเมือง - นโยบายที่ไม่แน่นอน

ขณะรายได้ภาคเกษตรในปี 2568 มีแนวโน้มหดตัวจากราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงเป็นหลัก แม้ปริมาณผลผลิตจะมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัว เช่นเดียวกับสถานการณ์มูลค่าการส่งออกไทยปีหน้า แม้มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น แต่ยังเติบโตได้ต่ำกว่าในอดีต ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลงนั่นเอง

ทั้งนี้ SCB EIC ยังพบว่า จากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,869 คน พบว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า อยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มลดการใช้จ่ายสินค้าและบริการไม่จำเป็นลง

โดยเกือบ 3 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสอบถาม คาดว่า “เศรษฐกิจไทย” ในปี 2568 จะแย่กว่าปีนี้ โดยกลุ่มลูกจ้าง Part-Time, เจ้าของกิจการ และผู้ประกอบการอาชีพอิสระ มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในเชิงลบมากกว่ากลุ่มลูกจ้างประจำ โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างภาครัฐ

คนไทย หวั่นค่าครองชีพสูง เตรียมรัดเข็มขัด ใช้จ่ายเกินตัว 

ซึ่งผู้บริโภคคนไทยมีแนวโน้มลดการใช้จ่ายสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็นลงในปีหน้า โดยกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม มีแนวโน้มจะลดการใช้จ่ายหมวดเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ กระเป๋า และรองเท้า ขณะหมวดรับประทานอาหารนอกบ้าน รวมถึงการพบปะสังสรรค์ การท่องเที่ยวต่างประเทศ และหมวดความบันเทิง เช่น การดูหนัง ก็ถูกระบุว่าจะลดลงเช่นกัน

ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าค่าครองชีพในปีหน้าจะสูงขึ้น สะท้อนจากค่าใช้จ่ายปกติในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ที่ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่งมองว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น จึงพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายรวมไม่ให้เพิ่มขึ้นมาก

ทั้งนี้ สำหรับประเด็นการออม สนค. เผยว่า คนไทย 59.3% ของครัวเรือนมีการออมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 54.7% ส่วนที่เหลือไม่มีการออม โดยมีสาเหตุจากรายได้ไม่เพียงพอและมีภาระหนี้สิน ขณะที่พนักงานของรัฐเป็นกลุ่มอาชีพที่มีการออมมากที่สุด

ส่วนแง่หนี้สิน พบคนไทย 65.3% มีหนี้สิน โดยเป็นหนี้ในระบบ 69.5% และหนี้นอกระบบ 7% ส่วนที่เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ มีมากถึง 23.5% สำหรับเรื่องที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐมากที่สุด คือ การเงิน ที่ 30.5% รองลงมา คือ โอกาสในอาชีพ อีก 29% เป็นต้น

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์