“SME ไทย” ท้าทายรอบด้าน ตามกระแสนิยมไม่ทัน ทยอยปิดกิจการ ภาคเหนือ - อีสาน มากสุด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“SME ไทย” ท้าทายรอบด้าน ตามกระแสนิยมไม่ทัน ทยอยปิดกิจการ ภาคเหนือ - อีสาน มากสุด

Date Time: 15 ก.ย. 2567 10:26 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • เกิดเป็น SME ไทย ไม่ง่าย! ท้าทายรอบด้าน ตามกระแสนิยมไม่ทัน ทยอยเลิกกิจการ 8 เดือน ปิดตัวกว่าหมื่นแห่ง กระจุกตัวกลุ่มประมง ผลิตเหล็ก เคมีภัณฑ์ และโรงพิมพ์ พื้นที่เหนือ - อีสาน มากสุด ความเชื่อมั่นลด หลังกังวลเศรษฐกิจ คู่แข่งใหม่ และสินค้านำเข้า บวกต้นทุนสูง ขาดอำนาจต่อรอง แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ อุปสรรคสำคัญ

Latest


ธุรกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งนอกจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีความเสี่ยงจะสูญเสียกำลังการผลิตภายในประเทศถึง 40% หากไม่สามารถปรับตัวให้ทันกระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าได้

ผู้ประกอบการ SME ไทยยังเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเจอกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งกำลังซื้อภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และกระบวนการผลิตและการตลาดที่ล้าสมัย

Thairath Money เจาะข้อมูลของ SCB EIC (ธนาคารไทยพาณิชย์) ฉบับล่าสุด ระบุว่า มีกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและทยอยปิดกิจการลงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจำนวนนิติบุคคลที่แจ้ง “เลิกกิจการ” นับตั้งแต่ ม.ค. - ส.ค. ปี 2567 อยู่ที่ 1.01 หมื่นแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจประมง ผลิตเหล็ก เคมีภัณฑ์ และโรงพิมพ์

ขณะเมื่อเทียบสัดส่วนการปิดกิจการ (% ต่อกิจการในแต่ละภูมิภาค) จะแจกแจงได้ดังนี้

  • ทั่วประเทศ 1.2%
  • กรุงเทพฯ 1.0%
  • ภาคกลาง 0.8%
  • ภาคตะวันออก 1.1%
  • ภาคอีสาน 1.8%
  • ภาคใต้ 1.0%
  • ภาคเหนือ 2.1%

ขณะผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME ภายใต้คำถาม “มีมุมมองอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และอีก 6 เดือนข้างหน้า” พบ ส่วนใหญ่เห็นว่ากำลังซื้อในประเทศยังเปราะบาง และกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

ความกังวลต่อภาคการค้า การผลิต และการท่องเที่ยวอยู่ในสัดส่วนสูงแทบทั้งสิ้น พร้อมพบว่า ความเชื่อมั่นของ SME ถูกกดดันจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งบางส่วนยังถูกซ้ำเติมจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสินค้านำเข้าจากจีนอีกด้วย

  • ต้นทุนการผลิต / ค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น
  • นโยบายรัฐไม่แน่นอน / ความกังวลต่อเสถียรภาพการเมืองในประเทศ
  • เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
  • ความสามารถทางการแข่งขันลดลงจากสินค้านำเข้า
  • กำลังซื้อในประเทศเปราะบาง
  • หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง
  • ค่าครองชีพสูง

8 อุปสรรคสำคัญในการดำเนินธุรกิจของ SME ไทย

ประเด็นปัญหาสำคัญคือ SME ส่วนใหญ่เผชิญปัญหาต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูง และถูกซ้ำเติมจากข้อจำกัดในการพัฒนาสินค้าและกลยุทธ์การขาย รวมถึงการยกระดับการผลิตได้ไม่เท่าทันกระแสนิยมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

  1. ต้นทุนการผลิต / การดำเนินงานสูง หรือผันผวน
  2. พฤติกรรม / ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป
  3. กลยุทธ์การตลาดเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ ได้จำกัด
  4. กระบวนการผลิต / การทำงานล้าสมัย ขาดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี
  5. ห่วงโซ่อุปทาน / แหล่งวัตถุดิบมีความไม่แน่นอนสูง
  6. ผลกระทบจากกระแส ESG เช่น นโยบายสิ่งแวดล้อม และการป้องกันความเสี่ยงด้านข้อมูล
  7. ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานทักษะ
  8. ขาดอำนาจต่อรองกับคู่ค้า เช่น ด้านราคาและระยะเวลาชำระหนี้

“ศักยภาพการเติบโตของ SME ภาคการผลิต ถูกฉุดรั้งจากข้อจำกัดในการเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงานคน ขณะที่ปัญหาขาดแคลนแรงงานมีความรุนแรงในธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์ และรับเหมาก่อสร้าง”

ขณะความท้าทายสำคัญของการทำธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 ประกอบไปด้วย

- 29% ระบุ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวน
- 17% ระบุ ต้นทุนค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น
- 14% ระบุ สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ
- 13% ระบุ การแข่งขันรุนแรง คู่แข่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ยังระบุว่า ความเชื่อมั่นของ SME จะปรับตัวดีขึ้น หากภาครัฐและภาคการเงินเพิ่มบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการทางการคลัง ลดความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และผ่อนคลายนโยบายการเงินลง

ที่มา : SCB EIC 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์