“SCB EIC ไทยพาณิชย์” ส่งสัญญาณเตือน หากไม่ต้องการให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงรุนแรง แบบ Hard Landing ต้องใช้ทั้งมาตรการการเงินและการคลัง โดยรัฐต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นร่วมกับการแก้หนี้เสีย และการลดดอกเบี้ยของ กนง.หลังพบเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ขาลง กำลังซื้อลด คนจนไม่มีเงินใช้ คนรวยไม่ใช้เงิน แบงก์ไม่ปล่อยกู้ หวั่นปี 68 เศรษฐกิจโตแค่ 1.9%
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Eco nomic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB EIC ประเมินปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำเพียง 2.5% และขยายตัว 2.6% ปี 68 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศ โดยเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงการชะลอตัว Landing แต่จะเป็นการชะลอลงอย่างช้าๆ (Soft Landing) หรือกระแทกลงอย่างแรง (Hard Landing) ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการประสานมาตรการระหว่างนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังเพื่อช่วยกันพยุงเศรษฐกิจหรือไม่
นายสมประวิณกล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดคือ หนี้ครัวเรือนที่สูง จำเป็นต้องเร่งแก้หนี้เสีย โดยหามาตรการใหม่ๆที่ได้ผลและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือการเบี้ยวหนี้มากขึ้น และต้องหาเงินจากนอกประเทศเข้ามาแทนเงินในประเทศที่หายไป ขณะที่นโยบายการเงินมีส่วนสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายเดือน ธ.ค.ต่อเนื่องถึงต้นปีหน้าจาก 2.5% ลงมาที่ 2% รวมทั้งต้องผ่อนคลายให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น
สำหรับความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอแบบ Hard Landing คือ 1.เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงรุนแรง 2.การเมืองไทยเข้าสู่จุดที่ไม่มีเสถียรภาพอีกครั้ง 3.ปล่อยให้ภาคการเงินตึงตัวแรง จนคนไม่มีกำลังซื้อ ต่อเนื่องถึงการลดการลงทุน และปิดกิจการ หากเป็นเช่นนี้เศรษฐกิจไทยปี 68 จะขยายตัวแค่ 1.9% “การมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นโดยเร็ว และการเร่งลดดอกเบี้ยของ กนง.จะช่วยพยุงการชะลอตัวของเศรษฐกิจไม่ให้ไหลลงแรง แม้ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นเร็ว แต่มีผลดีทางจิตวิทยา เหมือนคนกำลังจมน้ำ และมีคนส่งขอนไม้มาช่วย ทำให้คนมีกำลังใจทำธุรกิจ คนมีเงินจะเริ่มใช้เงิน คนมีหนี้ ได้แก้หนี้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เศรษฐกิจเคลื่อนต่อไปได้”
นายสมประวิณ กล่าวว่า ผลสำรวจยังพบว่าประชาชนจะลดการใช้จ่ายสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็นมากขึ้น คนไทยจะลดการท่องเที่ยว ทำให้รัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ควบคู่กับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว และจำเป็นต้องมีการใช้นโยบายการเงินเข้ามาช่วย เพราะนโยบายการคลังมีข้อจำกัดมากขึ้น จากภาระการคลังสูง และหากเศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าที่คาดไว้ จะส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงเกิน 70% ได้ใน 1-2 ปี “SCB EIC มองว่าเงินดิจิทัลใช้วงเงินสูง แต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่และชั่วคราว มีผลต่อเศรษฐกิจเพียง 0.5-0.7% แต่อาจทำให้หนี้สาธารณะชนเพดานในปี 70 ขณะที่ภาคธุรกิจยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องเร่งแก้ไข”
ทั้งนี้ ภาคท่องเที่ยวยังเป็นแรงส่งหลักของเศรษฐกิจ ขณะที่ส่งออกปี 68 ยังโตต่ำกว่าในอดีต ส่วนการลงทุนภาคเอกชนจะหดตัวเล็กน้อยและขยายตัวได้ปีหน้าแต่ไม่มาก “การใช้จ่ายคนไทยลดลงเร็วกว่าที่คาด เพราะ 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตด้วยการก่อหนี้เพิ่มของประชาชนมาตลอด ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ของจีดีพี ความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มคนมีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือนลดลง จึงทำให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารตึงตัวขึ้นมาก คนกู้เพิ่มไม่ได้ ก็ใช้จ่ายเพิ่มไม่ได้ คนที่พอมีเงินก็ไม่ยอมใช้จ่าย และยังซ้ำเติมด้วยรายได้ภาคเกษตรที่จะหดตัว ตามราคาสินค้าเกษตรที่จะลดลงปีหน้า”.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่