“สุรพงษ์” ผุดไอเดียสางหนี้รถไฟไทย จ่อถก “คลัง-สศช.” แฮร์คัตปิดหนี้แสนล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“สุรพงษ์” ผุดไอเดียสางหนี้รถไฟไทย จ่อถก “คลัง-สศช.” แฮร์คัตปิดหนี้แสนล้าน

Date Time: 12 ก.ย. 2567 08:29 น.

Summary

  • นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เดินหน้าฟื้น “รถไฟไทย” หลังแบกหนี้ท่วม 2.3 แสนล้านบาท จ่อถก “คลัง–สำนักงบ–สศช.” ขอแฮร์คัตปิดบันทึกหนี้เสีย–ขอเงิน PSO ตามวิ่งรถจริง คาดได้ข้อสรุปแก้หนี้ในปี 68 เดินหน้าเร่งโละรถร้อน เปลี่ยนติดแอร์

Latest

ฟื้นเฟสใหม่ “เราเที่ยวด้วยกัน” “สรวงศ์” สั่ง ททท.ชงโครงการเสนอนายกฯอิ๊งค์

“สุรพงษ์” เดินหน้าฟื้น “รถไฟไทย” หลังแบกหนี้ท่วม 2.3 แสนล้านบาท จ่อถก “คลัง–สำนักงบ–สศช.” ขอแฮร์คัตปิดบันทึกหนี้เสีย–ขอเงิน PSO ตามวิ่งรถจริง คาดได้ข้อสรุปแก้หนี้ในปี 68 เดินหน้าเร่งโละรถร้อน เปลี่ยนติดแอร์ หวังทางคู่เสร็จครบบริหาร SLOT เปิดช่องเอกชนเช่ารางร่วมวิ่ง พร้อมเปิดแนวคิดสร้างที่อยู่อาศัยริมทางรถไฟ นำร่องสายสีแดง–บางนา ชี้เป็นภารกิจเร่งด่วนผู้ว่าการคนใหม่

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า กระทรวงคมนาคมมีแนวนโยบายที่จะเดินหน้าแก้ไขหนี้สินสะสมที่ รฟท.มีอยู่กว่า 230,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นอีก 1 นโยบายที่จะมอบหมายให้ผู้ว่าการ รฟท.คนใหม่ ดำเนินการ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุส่วนใหญ่ของภาระหนี้พบว่ามาจากการให้บริการเชิงสังคม (PSO) ที่ รฟท.เก็บค่าโดยสารที่ให้บริการต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง ซึ่ง พ.ร.บ.การรถไฟฯกรณีบริการเชิงสังคมขาดทุน รัฐต้องจ่ายชดเชยให้ รฟท. แต่ข้อเท็จจริงรัฐจ่ายชดเชยให้ไม่ครบจำนวนที่เกิดขึ้นจริง จึงกลายเป็นภาระหนี้สะสมและเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเฉลี่ยมีต้นทุนบริการเชิงสังคมประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาทต่อปี แต่รัฐจ่ายชดเชยเพียง 1,000-1,500 ล้านบาทต่อปี มาจากการวิ่งให้บริการรถไฟเชิงสังคม (PSO) ขณะเดียวกันที่ผ่านมา รฟท.ไม่เคยมีการปรับขึ้นค่าโดยสารมากว่า 34 ปี

จ่อถก “คลัง–สำนักงบ”ขอแฮร์คัต ปิดหนี้เสีย

“รฟท.เป็นองค์กรใหญ่ ซึ่งมีแผนงานที่จะต้องลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน วงเงินมหาศาล และในอนาคตจะกลายเป็นกระดูกสันหลังในการเดินทางของประเทศ แต่ปัจจุบันกลับพบว่า รฟท.มีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้น ตนจึงมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาเรื่องหนี้ PSO หรือตัดหนี้ส่วนนี้ออกจาก รฟท.โดยจะตั้งทีมงานเพื่อศึกษาและกำหนดแนวทางที่เหมาะสม ไม่ให้กระทบต่อการให้บริการและไม่เป็นภาระของกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้ใช้บริการเชิงสังคม เพราะจะมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นเครื่องมือในการแยกกลุ่มเปราะบางซึ่งรัฐมีการอุดหนุนกลุ่มนี้อยู่แล้ว”

โดยในเบื้องต้นจะมีการหารือผู้เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งหากปลดภาระหนี้สินออกก็เพื่อให้ รฟท.สามารถบริหารจัดการได้ตามข้อเท็จจริง ซึ่งคาดว่าแนวทางจะชัดเจนในปี 68

“ต้องถามรัฐบาลว่า ภารกิจเชิงสังคมนี้ไม่บันทึกเป็นหนี้ได้หรือไม่ หรือไม่ต้องลงบัญชีรถไฟ หรือให้ รฟท.บริการเท่ากับจำนวนที่รัฐอุดหนุนได้หรือไม่ เพราะจริงๆถือเป็นบริการที่รัฐให้ทำแต่รัฐไม่อุดหนุนตามจำนวน รถไฟจึงเป็นจำเลยสังคมว่าบริหารไม่ดี ขณะที่ รฟท.ไม่ได้ปรับค่าโดยสารมา 34 ปีแล้วด้วย”

เร่งโละรถร้อนเปลี่ยนติดแอร์

นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของการให้บริการรถไฟในปัจจุบัน รฟท.บริการรถโดยสารเชิงสังคม (PSO) หรือรถร้อนประมาณ 26 ล้านที่นั่งต่อปี แต่มีผู้โดยสารใช้จริงเพียง 18.7 ล้านที่นั่งเท่านั้น ในขณะที่รถเชิงพาณิชย์มีบริการประมาณ 9.1 ล้านที่นั่งต่อปี ขณะเดียวกันก็มีปริมาณยอดจองตั๋วโดยสารเต็มตลอด และยังพบว่ามีผู้โดยสารที่จองรอการเดินทางอีกจำนวนมาก จึงแสดงให้เห็นว่า รฟท.มีรถเชิงพาณิชย์ให้บริการน้อยกว่าความต้องการ ขณะที่รถเชิงสังคมมีเกินความต้องการจริง

ดังนั้น ตนจึงได้มีนโยบายที่จะให้ รฟท.เพิ่มบริการในขบวนรถเชิงพาณิชย์เพื่อตอบสนองผู้ที่ต้องการเดินทาง โดยจะปรับปรุงรถโดยสารชั้น 3 (พัดลม) เป็นรถปรับอากาศ ซึ่งตนได้วางเป้าหมายว่ารถไฟจะไม่มีรถร้อนให้บริการอีกต่อไป ส่วนราคาจะปรับเพิ่มแค่ไหนอย่างไรนั้นจะมีการพิจารณาต่อไป ขณะที่แม้ปรับเป็นรถแอร์ปรับอากาศแล้วก็ตาม กลุ่มเปราะบางก็จะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า ในอนาคตหากโครงการรถไฟทางคู่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ รฟท.จะต้องปรับการบริหารจัดการเพื่อใช้ประโยชน์จากทางคู่ให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ รฟท.ใช้รางเพียง 20% ที่เหลือไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็จะกลับมาใช้ประโยชน์จากรางของระบบทางคู่มากขึ้นกว่า 70-80% ซึ่งเมื่อใช้รางมากขึ้น รายได้ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้นหาก พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ... ผ่านสภาฯและมีผลบังคับใช้ ก.ม. ก็จะยิ่งทำให้ รฟท.เปิดกว้างให้มีการนำรางรถไฟมาบริหารจัดการเดินรถไฟขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งตนก็มีนโยบายที่จะให้ รฟท. บริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากรางเพิ่มขึ้น โดยการจัดตารางการใช้ราง หรือ SLOT โดยมุ่งเน้นไปที่การขนส่งสินค้า

ผุดไอเดียสร้างที่อยู่อาศัยริมทาง

นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นตนได้มีนโยบายสั่งการไปยัง รฟท. โดยบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ รฟท.ที่เข้ามารับหน้าที่ในการบริหารสินทรัพย์ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ ของ รฟท.ไปศึกษา และจัดอันดับที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ของ รฟท.เบื้องต้นมีพื้นที่รอการพัฒนาอยู่ประมาณ 39,000ไร่ ทั่วประเทศ นอกจากนั้นให้ รฟท.เร่งส่งมอบสินทรัพย์ พื้นที่ สัญญาเช่าให้กับเอสอาร์ทีเพื่อพัฒนาและสร้างรายได้

ซึ่งแนวนโยบายของการพัฒนาเบื้องต้นมองว่า หากจะเข้ามาพัฒนาที่มีความเป็นไปได้คือให้เอสอาร์ทีพิจารณาการสร้างที่อยู่อาศัย ตามแนวเขตทางรถไฟ ซึ่งจุดที่เหมาะสมคือตามแนวเส้นทางรถไฟย่านบางนา หรือแนวเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยายจากรังสิต-ธรรมศาสตร์ เนื่องจากหากเส้นทางนี้มีการสร้างรถไฟฟ้าชานเมือง ความต้องการคนหาที่อยู่อาศัยก็เพิ่มขึ้น หากมีการพัฒนาในพื้นที่รถไฟสำหรับกลุ่มเปราะบางได้มาซื้อในราคาไม่แพง นอกจากช่วยให้คนมีที่อยู่อาศัยยังให้เมืองได้ขยายออกไปชานเมืองด้วย

“อย่างไรก็ตาม นโยบายต่างๆของตนตอนนี้ถือว่าเรื่องที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนคือ หนี้สินสะสมของ รฟท.และเรื่องการพัฒนาสินทรัพย์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับ รฟท.ซึ่งทั้ง 2 เรื่องถือเป็นภารกิจสำคัญของผู้ว่าการ รฟท.คนใหม่ที่จะต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการองค์กร และแก้ปัญหา เพื่อนำพาให้ รฟท.เดินหน้าต่อไปได้และยั่งยืน”.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ