“ต้มกบ” ที่ไม่ได้หมายถึงเมนูอาหาร แต่คือนิยามใช้เรียกภาวะเศรษฐกิจที่ว่ากันว่า “ประเทศไทย” กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ (เศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป โดยที่เราต่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว คล้ายกบที่ถูกต้มในอุณหภูมิต่ำ ๆ จนถึงจุดเดือด)
นี่คือข่าวดัง ภาพสะท้อนของเศรษฐกิจไทย ภายใต้ GDP ครึ่งปีแรก ปี 2567 ที่ถูกระบุว่า ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง 1.9% อย่างไรก็ดี เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์จากนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนแล้วว่า การที่รัฐบาล ติดตามและเฝ้ามองเฉพาะตัวเลข GDP อาจไม่เพียงพอ
เพราะหากย้อนไป จะพบว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมาการเติบโตของ GDP ไทยจะยังคงเป็นบวก นักท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวได้ดีแต่การฟื้นตัวดังกล่าวสะท้อนภาพที่แตกต่างกันอย่างมากในแต่ละภาคส่วน โดยยังมีหลายภาคเศรษฐกิจที่ยังหดตัวหรือเติบโตได้ช้าอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งการเติบโตที่แตกต่างกันมากในแต่ละภาคเศรษฐกิจ กำลังชี้ให้เห็นว่า GDP ที่พอเติบโตได้ เป็นภาพที่ไม่สมบูรณ์เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในหลายภาคส่วนยังคงอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวแย่ลง เช่น ข้อมูลสะท้อนผลกระทบที่รุนแรงขึ้นจากสัญญาณการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นมาก
ขณะเดียวกัน ตั้งแต่การปิดเมืองช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยังส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนและเงินเฟ้อ ทำให้การบริโภคในประเทศขยายตัวได้ช้าอย่างมาก
“เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 และฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน”
“ไม่เพียงเฉพาะเศรษฐกิจที่โตได้ช้าลง ความจริงแล้วเศรษฐกิจไทยมีจุดเปราะบางที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจไทยในหลายภาคส่วนชะลอตัวมาตั้งแต่ก่อนโควิดแต่เพิ่งสะท้อนปัญหาที่ชัดเจนขึ้นในช่วงนี้”
บางส่วนบางตอนของบทวิเคราะห์ KKP Research ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังถูกวิเคราะห์ว่า อาจกำลังเข้าสู่วัฏจักรการจ่ายหนี้คืน (Deleveraging Cycle) สะท้อนจากยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ที่หดตัวลงต่อเนื่อง เป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมากในปัจจุบันและรายได้ครัวเรือนที่เติบโตช้า ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ
การชะลอตัวส่งผลให้แม้การบริโภคในภาพรวมขยายตัวได้ดีขึ้นจากภาคบริการ แต่การบริโภคสินค้าคงทนโดยเฉพาะการบริโภครถยนต์และบ้านเติบโตติดลบอย่างหนักและยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว
ทั้งนี้ “บริสุทธิ์ กาสินพิลา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โฮมบายเออร์กรุ๊ป นักธุรกิจผู้คว่ำหวอดในวงการอสังหาฯ ไทย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์และให้มุมมองชวนคิด ผ่านการซบเซาของตลาดบ้าน เมื่อเทียบกับ 2 วิกฤติ อย่างวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” และวิกฤติ “โควิด-19” อะไรหนักหนา สาหัสกว่ากัน? หากบ้าน ที่เป็นปัจจัย4 ยังสั่นคลอนจากภาวะเศรษฐกิจ
วิกฤติค่าเงินบาทปี 2540
ประเทศไทยเปิดเสรีการเงินในการนำเข้าหรือส่งออกเงินตราต่างประเทศ แต่อัตราแลกเปลี่ยนยังคง Fix ที่เรียกว่าระบบตะกร้า ทำให้มีการกู้เงินต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมากเพราะอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า
ไทยถูก “เฮดฟันด์” โจมตีค่าเงิน จนสุดท้ายต้องยอมถอยปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ เป็นประมาณ 50 บาทต่อดอลลาร์
ธุรกิจที่ได้รับความเสียหายก็คือธุรกิจที่กู้เงินต่างประเทศ อันดับแรกเลย สถาบันการเงิน จนต้องปิดสถาบันการเงินระลอกแรก 56 แห่งทันที ถัดมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นธุรกิจใช้เงินทุนสูงต้องกู้ธนาคารมาก
โดยเฉพาะบริษัทอสังหาฯ ที่เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ยุคโน้นที่ตลาดฯ มีเงื่อนไขว่า ต้องมีแลนด์แบงก์สำหรับทำโครงการไม่ต่ำกว่า 5 ปี ค่าเงินบาทตก หนี้เพิ่มทันทีเท่าตัว ส่วนบริษัทอสังหาฯ ที่ไม่ได้กู้เงินต่างประเทศ แต่เมื่อสถาบันการเงินทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และธนาคารถูกปิด ก็ไม่มีเงินทำโครงการต่ออยู่ดี
อย่างไรก็ดี วิกฤติปี 2540 มีธุรกิจที่ได้รับประโยชน์คือธุรกิจส่งออกสินค้า อาทิ สินค้าอาหารทะเล สินค้าเกษตร เฟอร์นิเจอร์ เมื่อค่าเงินบาทต่ำลงสินค้าไทยในตลาดโลกก็มีราคาถูกลง ทำให้ผู้ส่งออกไทยขายได้ราคาสูงขึ้นกว่าเดิม และได้รับการสั่งซื้อมากขึ้น
ในวงการอสังหาฯ จึงเกิดโครงการบ้านราคาแพงระดับ 40 ล้านบาทต่อหลังเป็นครั้งแรกที่ถนนพระราม 2 เป็นย่านแรกรองรับฐานะเจ้าของกิจการส่งออกสินค้าอาหารทะเลมหาชัย
ส่วนประชาชนพนักงานกินเงินเดือนยุค 2540 ก็ขึ้นกับว่าทำงานกับบริษัทกลุ่มธุรกิจใด อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจากวิกฤติ 2540 ถือว่าไม่นานนัก 1-2 ปีเท่านั้น
วิกฤติโควิด-19 ปี 2563-2564
เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัวล่วงหน้า ตอนแรกที่เกิดยังไม่มีวัคซีน ยังไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานเท่าใดจึงจะควบคุมโรคได้ ดังนั้นเมื่อตอนโควิดแพร่ระบาดประชาชนมีความตื่นตระหนก วิตกกังวล ส่วนภาคธุรกิจบ้านคอนโดมีความยากในการจัดทำแคมเปญการตลาด เพราะคนไม่ออกจากบ้าน และบางช่วงก็มีการล็อกดาวน์ห้ามคนออกจากบ้าน
แต่ผ่านไปสัก 6 เดือนก็ปรับตัวกันได้ คนมีที่ต้องการซื้อบ้านก็ไปเยี่ยมชมโครงการ แคมเปญการตลาดบ้านคอนโดก็ได้รับการตอบรับพอสมควร ช่วงโควิด-19 ระบาด 2563-2564 นั้น กำลังซื้อของตลาดยังมี การปฏิเสธปล่อยกู้สินเชื่อรายย่อยเพื่อซื้อบ้านยังไม่สูงมาก อุปสรรคคือความไม่สะดวกในการออกจากบ้านไปเยี่ยมชมโครงการที่สนใจ ซึ่งเห็นได้ชัดจากสถิติการเข้าดูโครงการบ้านคอนโดในเว็บไซต์ที่เป็นมาร์เก็ตเพลสสำคัญ ๆ ของตลาด ไม่เพียงแต่ไม่ลดลง หากยังเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
แถมยังมีปรากฏการณ์เกิดกลุ่มกำลังซื้อใหม่ โดยตั้งแต่ประมาณเดือนเมษายน 2563 พบว่ามีการค้นหาบ้านโครงการระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปมากกว่าสถิติปีก่อน ๆ นั้น ถึงประมาณกลางปีเดียวกัน ก็ทราบว่ามีการจองซื้อบ้านระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปมากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค
และเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกได้ว่า “บูม” อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในตลาดธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยมีลูกค้าใช้บริการธุรกิจรับสร้างบ้านระดับราคาสูงมาก ตั้งแต่หลายสิบล้านจนถึง 100 ล้านบาทเป็นจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด
โดยรวมวิกฤติโควิด-19 จึงกระทบอสังหาฯ ไม่มาก ซ้ำยังมีผลทางบวกทำให้ผู้มีฐานะมั่งคั่งมีเงินออมมาก ตัดสินใจควักเงินออมออกมาซื้อบ้านราคาแพงและสร้างบ้านราคาสูงจำนวนมาก ต่อเนื่องมาอีกหลายปี
วิกฤติ “ต้มกบ” นิยามเศรษฐกิจไทยในยามนี้
เป็นวิกฤติที่จู่ ๆ ก็เจอว่ากำลังซื้อสินค้าบริการในตลาดหายวูบไปเฉย ๆ โดยเฉพาะสินค้าราคาสูง บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม พบว่าจำนวนลูกค้าแวะเยี่ยมชมโครงการลดลง จำนวนการจองซื้อลดลงในปี 2567 ตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นมา และชัดเจนยิ่งขึ้นในกลางปี
ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็มีความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยบ้านคอนโดมากขึ้น ๆ จนทำให้ที่อยู่อาศัยระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทถูกปฏิเสธปล่อยกู้มากกว่า 50% ถึง 70% แล้วค่อย ๆ ลามขึ้นมาระดับ 5 ล้านบาท, ระดับ 7 ล้านบาท จนกระทั่งระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไป ก็เริ่มถูกปฏิเสธปล่อยกู้ประมาณ 10% แล้ว
เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจ กับตลาด ทั้งปีเมื่อปี 2565-2566 ที่เพิ่งผ่านไป เป็นปีที่บริษัทอสังหาฯ ผู้นำตลาดทำลายสถิติยอดขาย ยอดกำไร นิวไฮกันเป็นว่าเล่น
ย้อนกลับไปดูข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคจะพบว่า 10 กว่าปีมานี้รายได้ประชาชาติหรือ GDP ไทยต่ำเตี้ยต่อเนื่อง คิดเป็นรายได้ที่แท้จริงแค่ประมาณเกือบ 2% เท่านั้นเอง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยไม่มีอะไรใหม่ ไม่มี new S-curve ไม่มีเมกะโปรเจ็กใด ๆ โครงสร้างเศรษฐกิจการผลิต การส่งออกเหมือนเดิม จึงทำให้ทุกวันนี้ มีแต่ข่าวโรงงานอุตสาหกรรมแบบเดิมที่ปรับตัวไม่ทัน
แข่งขันไม่ได้ ทยอยปิดโรงงานและเลิกจ้างอย่างต่อเนื่อง จนธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยต้องตรวจสอบก่อนว่าผู้ยื่นกู้ทำงานโรงงานประเภทใด บริษัทอะไร หากไม่ใช่ก็ปฏิเสธปล่อยกู้ที่ผ่านมา 2-3 ปีหรือหลายปีก่อนหน้านี้ กำลังซื้อยังมี ไม่มีอาการ “วูบ” เหมือนปีนี้
คำตอบน่าจะประมาณว่า แม้ก่อนนี้รายได้ที่แท้จริงของผู้ซื้อจะไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้ว แต่ก็ยังสามารถกู้จากสถาบันการเงินต่าง ๆ มาซื้อบ้านซื้อรถยนต์ได้กู้มาเรื่อย ๆ จนหนี้ครัวเรือนที่เคยอยู่แถว 50% ของ GDP ขึ้นมาทะลุ 90% จนสถาบันการเงินไม่กล้าปล่อย ก็ซื้อไม่ได้ กำลังซื้อก็เลยวูบหายไปแบบนี้
สรุป เปรียบเทียบ 3 วิกฤติเศรษฐกิจ
วิกฤติค่าเงินบาท 2540 เกิดขึ้นเร็ว มีธุรกิจได้รับความเสียหายจำนวนมาก แต่ก็มีธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จำนวนไม่น้อย เนื่องจากเป็นวิกฤติการเงินรัฐนำเอาเงินและเครดิตมาอุ้ม มีมาตรการทางกฎหมายบังคับลูกหนี้เจ้าหนี้ปฏิบัติตาม การเปลี่ยนแปลงแก้ปัญหาจึงทำได้เร็ว และการฟื้นตัวก็เกิดขึ้นได้ไม่นานหลังจากนั้น
วิกฤติโควิด-19 ปี 2563-2564 ซึ่งเป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบถ้วนหน้าจากการ “ล็อกดาวน์” หรือการเดินทางไปไหนมาไหนไม่สะดวก โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว แต่เมื่อสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ มีวัคซีน ธุรกิจต่าง ๆ ก็กลับสู่สภาพปกติ
วิกฤติกำลังซื้อต่ำปี 2567 เป็นปัญหาสะสมแบบไม่รู้ตัว จึงเรียกว่า “ต้มกบ” เหตุเนื่องจากโครงสร้างการผลิตและการส่งออกของประเทศเก่าล้าหลังไม่ทันกับตลาดโลกที่เปลี่ยนไปมากแล้ว ทำให้ไม่มีความสามารถแข่งขันต้องทยอยปิดกิจการและเลิกจ้างไป ทำให้เงินลงทุนจากต่างประเทศไม่ไหลเข้ามาลงทุนและยังไหลออกอย่างต่อเนื่อง
การแก้ไขต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตและการส่งออกของประเทศ เป็นเรื่องใหญ่ต้องใช้ความเห็นพ้องและเอกภาพอย่างมากในการดำเนินการ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเมืองของประเทศซึ่งต้องใช้อำนาจรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ก็มีปัญหาโครงสร้างทางการเมืองที่ล้าหลังเช่นเดียวกัน
เลยไม่รู้ว่าจะเริ่มจากปัญหาไหนก่อนหลังดี หรือปัญหาทั้งเศรษฐกิจการเมืองจะสะสมหมักหมมที่สุดจนไม่ไหวเกิดระเบิดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเองที่แน่ ๆ ถ้าวัดเฉพาะยอดขายรายได้ของธุรกิจต่าง ๆ เวลานี้แย่กว่าวิกฤติโควิด-19 แล้ว จริงหรือไม่ ?
ที่มา : สภาพัฒน์ ,KKP Research , REIC ,Borisud Kasinpila
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่