จุดพลุ "อีอีซี" ฟื้นลงทุนอีกรอบ ดึงชาวบ้าน-เจ้าของที่ดินโดยรอบร่วมพัฒนาพื้นที่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จุดพลุ "อีอีซี" ฟื้นลงทุนอีกรอบ ดึงชาวบ้าน-เจ้าของที่ดินโดยรอบร่วมพัฒนาพื้นที่

Date Time: 7 ก.ย. 2567 08:25 น.

Summary

  • “จุฬา” เผยอีอีซี เตรียมเป็นเจ้าภาพดึงชาวบ้านเจ้าของที่ดินโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงฉะเชิงเทราและพัทยา ร่วมพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ดึงเอกชนมาลงทุนร่วม 64,000 ล้านบาท

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“จุฬา” เผยอีอีซี เตรียมเป็นเจ้าภาพดึงชาวบ้านเจ้าของที่ดินโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงฉะเชิงเทราและพัทยา ร่วมพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ดึงเอกชนมาลงทุนร่วม 64,000 ล้านบาท โดยให้แบ่งผลประโยชน์ที่ได้กับชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ดิน เพื่อไม่ให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือของนายทุน ด้านสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก UTA ชี้จะลงมือก่อสร้างก็ต่อเมื่อมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยประเด็นใหม่ในระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า ได้วางแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ประกอบด้วย 9 สถานี โดยจะสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ชุมชนและสังคม 2 สถานี คือ ฉะเชิงเทรา และพัทยา และจะประกาศ ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้วย

สำหรับการพัฒนา TOD บริเวณสถานีฉะเชิงเทรา พื้นที่ 321 ไร่ มีแนวคิดพัฒนา 9 โครงการ เงินลงทุน 18,980 ล้านบาท อาทิ ระยะเร่งด่วน โครงการศูนย์สนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง ระยะสั้น 5 ปี โครงการศูนย์ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ร้านค้าชุมชน (OTOP) โครงการที่อยู่อาศัยขั้นดี อาคารสำนักงาน ระยะยาว 10 ปี โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โรงแรมย่านการค้า เป็นต้น ส่วนการพัฒนา TOD สถานีพัทยา พื้นที่ 280 ไร่ มีแนวคิดพัฒนา 7 โครงการ เงินลงทุน 46,000 ล้านบาท แบ่งเป็นระยะสั้น 1-5 ปี โครงการศูนย์ขนส่งต่อเนื่องแบบ Mixed Use Complex ระยะยาว 6-10 ปี โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยย่านพาณิชยกรรมใหม่ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า เป็นต้น

“ที่จริงเรื่องรูปแบบพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟ เป็นการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มานานแล้ว แต่ไม่มีเจ้าภาพ ในครั้งนี้ สกพอ.จะเป็นเจ้าภาพให้เอง โดยรวบรวมเจ้าของที่ดินมาร่วมโครงการและดึงภาคเอกชนมาเป็นผู้ลงทุน ที่ผ่านมา 2 ปี สกพอ.ได้รับฟังความคิดเห็นแนวทางการพัฒนา TOD เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนในพื้นที่ และชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง โดยกว่า 80% สนใจเข้าร่วมโครงการ ดังนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินเมื่อไหร่ ก็ต้องรีบทำ เพราะราคาที่ดินจะขึ้นอีก 20-30% พอรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเกิดขึ้นเมื่อไหร่ราคาที่ดินก็จะขึ้นอีกเป็น 100% ซึ่งการทำรูปแบบนี้จะทำให้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ดินในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่นาได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จะมีรายได้จากการเอาที่ดินมาเข้าร่วมพัฒนาไปโดยตลอด โดยไม่ต้องขายที่ดินให้ตกไปอยู่ในมือของนายทุน”

ส่วนขั้นตอนดำเนินงาน ขณะนี้รอเสนอคณะกรรมการ กพอ. เพื่อเห็นชอบ (ร่าง) แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน บริเวณรอบสถานีเขตส่งเสริมเศรษฐกิจ โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ดังกล่าว และคาดว่าจะเสนอ ครม.ตามขั้นตอนต่อไป

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแเนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เอกชนผู้พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กล่าวว่า ได้รับคำถามมาว่าเมื่อไหร่ UTA จะเริ่มงานก่อสร้าง ต้องบอกว่าโครงการนี้เป็นคู่แฝดกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถ้ารถไฟความเร็วสูงฯไม่เข้ามา เราก็เป็นเมืองการบินไม่ได้ จึงเป็นเงื่อนไขที่ทั้งสองโครงการจะต้องเดินไปด้วยกัน เมื่อใดที่รัฐบาลอนุมัติแก้สัญญาให้โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ของ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (บริษัท กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) เดินหน้าได้ เงินลงทุนของ UTA และพันธมิตร ในโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกจะลงทุนทันที 320,000 ล้านบาท และมีการลงทุนทางวางทางขับของภาครัฐอีก 23,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อผนวกกับการลงทุนของรถไฟความเร็วสูงฯอีก 234,544 ล้านบาท จะเกิดการเชื่อมโยงกับ 3 สนามบินได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผลักดันโครงการ เพราะในอีก 10 ปีข้างหน้าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นปีละ 262,000 ล้านบาทต่อเนื่องไปอีก 40 ปี.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ