จากกรณีมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่รัฐบาลชุดใหม่จะปรับรูปแบบโครงการดิจิทัลวอลเลตเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางก่อนในปีนี้ จากการแสดงวิสัยทัศน์ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีและบิดาของนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร”
ซึ่งระบุว่าแหล่งเงินที่จะมาใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ในส่วนของงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท บวกกับงบฯ กลางอีก 2 หมื่นกว่าล้าน เป็น 1.45 แสนล้านบาท อาจจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นการเติมเงินลงไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐก่อนราว 14.5 ล้านคน
ต่อมาภายหลัง นายกฯ แพทองธาร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลจะให้ความชัดเจนของโครงการดิจิทัลวอลเลตในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในเดือนกันยายน ทำให้หลายฝ่ายกำลังจับตาการเปลี่ยนแปลงนโยบายดิจิทัลวอลเลตของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด
ขณะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อย่าง ดร. ปิติ ดิษยทัต กล่าวว่า แนวคิดการปรับเปลี่ยนจากรูปแบบเดิมมาเป็นการแจกเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่ง กนง. เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ารูปแบบเดิม แต่อาจมาพร้อมกับเม็ดเงินสนับสนุนที่ลดลง
ขณะวิจัยกรุงศรี ออกรายงานระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่โครงการดังกล่าวจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างแน่นอน ก็เพราะส่วนหนึ่งจากข้อจำกัดของงบประมาณเพิ่มเติมวงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่ได้มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจำเป็นที่จะต้องมีการนำมาใช้ก่อนจะสิ้นสุดปีงบประมาณ 2567 ในเดือนกันยายนนี้
ล่าสุดในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ “ดร. กิริฎา เภาพิจิตร” ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก TDRI
ออกมาแสดงความเห็นกับประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจว่า สำหรับการปรับเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเลต ที่จะมอบให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ วงเงิน 1.45 แสนล้านบาท เพื่อเป็นกลุ่มแรกก่อนภายในเดือนกันยายนนี้ และส่วนกลุ่มคนทั่วไปอีก 30 ล้านคนจะถูกจัดสรรในระยะถัดไปนั้น
ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่าจะมีการปรับ 2 อย่าง คือ กลุ่มของผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม และมีการปรับจากการให้เงินดิจิทัลเป็นเงินสด
ซึ่งหากมีการดำเนินการในลักษณะนี้จริง จะได้ผลต่อเศรษฐกิจแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยและเงินหมุนในประเทศได้เร็ว เนื่องจากว่าการให้แบบเจาะจงกับกลุ่มที่มีความจำเป็น อย่างผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มพิการ จะทำให้เงินก้อนนี้ถูกใช้ในทันทีและใช้หมด ไม่ได้ถูกนำไปเก็บออมซึ่งจะไม่เกิดผลทางเศรษฐกิจ หรือไปซื้อของนำเข้าจากต่างประเทศที่จะทำให้เงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม มองว่าผลของโครงการอาจจะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แบบที่คาดไว้ เพราะว่าเงินส่วนหนึ่งที่นำมาใช้เป็นการเกลี่ยมาจากวงเงินงบประมาณที่สามารถนำไปใช้ในโครงการอื่นได้
แต่ทั้งนี้ ถ้าถามว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายนี้เกิดความคุ้มค่ากับงบประมาณให้มากที่สุด คิดว่าก้อนแรกที่ให้กับกลุ่มเปราะบางมีความคุ้มค่าระดับหนึ่ง แต่ที่เหลืออีกก้อนจำนวน 3 แสนล้านบาทที่จะให้กับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป หากสามารถดีไซน์โครงการนี้ได้ใหม่ เห็นว่าอาจจะไม่ต้องแจกทุกคน หรืออาจจะลดสเกลการแจกลงมา หรือถ้าจะแจกจริง ๆ น่าจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมเล็กน้อย
เช่น ในจำนวนเงิน 1 หมื่นบาท คนที่ได้รับสิทธิต้องนำไปใช้สำหรับอัพสกิล หรือรีสกิล 2,000 บาทได้ไหม เพื่อเป็นการเพิ่มพูนทักษะของประชาชนในระยะยาวด้วย ซึ่งดีกว่าให้ครั้งเดียวแล้วหายไปเลย
ดร. กิริฎา ยังกล่าวอีกว่า โจทย์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่ควรเร่งดำเนินการภายหลังเข้ารับตำแหน่งทันที คือ ในระยะสั้นทุกฝ่ายมีความคาดหวังให้รัฐบาลเร่งผลักดัน พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ออกมาให้เร็ว
เนื่องจากงบประมาณของปีนี้ออกมาล่าช้ากว่ากำหนดมากแล้ว แต่มีการคาดการณ์กันว่าร่าง พ.ร.บ. งบฯ ปี 68 ล่าช้าออกไปอีกประมาณ 1 เดือน เนื่องจากต้องรอการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
นอกจากนี้ภาคเอกชนยังต้องการให้ภาครัฐเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งปี 67 รวมถึงปีถัดไปเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกด้วย
ที่มา : TDRI ,วิจัยกรุงศรี
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney