หนี้ไม่ก่อรายได้พุ่ง! 1.63 แสนล้าน “ผ่อนครบรับของ” ตัวเร่งก่อหนี้เกินตัว บัตรคอนเสิร์ต ยัน Art Toy

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

หนี้ไม่ก่อรายได้พุ่ง! 1.63 แสนล้าน “ผ่อนครบรับของ” ตัวเร่งก่อหนี้เกินตัว บัตรคอนเสิร์ต ยัน Art Toy

Date Time: 27 ส.ค. 2567 11:15 น.

Video

เปิดภารกิจ 3 แบงก์ไทย ใช้ Green Finance ช่วยลูกค้าปรับตัวฝ่า ระเบียบโลกใหม่ | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • สภาพัฒน์ เผย ยอดหนี้ไม่ก่อรายได้ของไทย พุ่ง! 1.63 แสนล้าน เทรนด์ “ผ่อนครบรับของ” ตัวเร่งก่อหนี้เกินตัว
  • คนรุ่นใหม่สารพัดผ่อน ตั้งแต่บัตรคอนเสิร์ต สัตว์เลี้ยง ยัน Art Toy ลาบูบู้ ครายเบบี้ แค่มีบัตรประชาชนใบเดียว

Latest


“คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น-มากขึ้น และนานขึ้น” ไม่เกินจริง ซึ่ง 3 สัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าเราอาจก่อหนี้เกินตัว ได้แก่ เริ่มใช้จ่ายเกินรายได้ที่มี, ไม่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน และใช้เงินในอนาคตโดยไม่คำนึงถึงรายได้ 

ขณะปฏิเสธไม่ได้ว่า บัตรกดเงินสด ที่สมัครง่าย ได้เงินเร็ว, สินเชื่อส่วนบุคคล วงเงินสูง ขอกู้ง่าย โดยไม่ต้องมีหลักประกัน เรื่อยไปจนถึงบัตรเครดิต ระยะปลอดดอกเบี้ยต่างๆ เป็นตัวเร่งให้คนไทยเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับสินค้าเงินผ่อน เปิดผ่อนทุกสารพัดสิ่ง ก็เชิญชวนให้คนไทยเกิดเทรนด์เสพติด ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกินความจำเป็นเช่นกัน 

หนี้ไม่ก่อรายได้พุ่ง-สัญญาณหนี้เสียก็เร่งตัว หลังปรับเกณฑ์จ่ายขั้นต่ำ 


ล่าสุดในรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 2 ของสภาพัฒน์ ได้ระบุว่า แม้ขณะนี้ “หนี้ครัวเรือนไทย” จะอยู่ในภาวะขยายตัวชะลอลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ เหตุเพราะ สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น 

แต่พบว่าคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือน กลับปรับลดลงต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรก ปี 2567 มูลค่าหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของธนาคารพาณิชย์ มีจำนวนทั้งสิ้น 1.63 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม อยู่ที่ 2.99% เพิ่มขึ้นจาก 2.88% ของไตรมาสที่ผ่านมา

โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตที่มีสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น หรืออยู่ที่ 4.13%

ทั้งนี้ ประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย มีการปรับอัตราการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% นับตั้งแต่ต้นปี ทำให้ลูกหนี้มียอดผ่อนชำระในแต่ละงวดเพิ่มขึ้น 

ซึ่งแม้ว่าจะเป็นหนึ่งในนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน แต่ส่งผลให้ลูกหนี้บางส่วนไม่สามารถปรับตัวและมีปัญหาในการชำระคืน สะท้อนจากสินเชื่อที่มียอดคงค้างชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ยเกินกว่า 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน และมีความเสี่ยงด้านเครดิต อยู่ในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลเครดิตบูโร พบว่าจำนวนบัญชีบัตรเครดิตที่เริ่มมีสถานะผิดนัดการชำระหนี้ เพิ่มขึ้นถึง 26.1% จาก 1.1% ของไตรมาสก่อน

กู้ยืมนอกระบบ ปลุกเทรนด์ใช้จ่ายเกินตัว บัตรประชาชนใบเดียวก็ผ่อนได้ 


แต่ที่น่ากังวลมากสุด คือ รูปแบบการให้กู้ยืมนอกระบบที่หลากหลาย อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการก่อหนี้เกินตัวได้ง่าย ปัจจุบันมักพบเห็นการให้กู้ยืมนอกระบบผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการผ่อนไปใช้ไป หรือผ่อนครบรับของ เช่น ผ่อนบัตรคอนเสิร์ตผ่านร้านรับกดบัตรในแอปพลิเคชัน X ผ่อนเครื่องสำอางในแอปพลิเคชัน Line ผ่อนอุปกรณ์ไอที หรือสินค้าแบรนด์เนม ผ่าน Facebook หรือ Instagram ไปจนถึงสัตว์เลี้ยง ทั้งสุนัขหรือแมวใน TikTok 

การผ่อนของยังครอบคลุมไปถึงอาร์ตทอยที่กำลังได้รับความนิยม เช่น ตุ๊กตาลาบูบู้ ครายเบบี้ ซึ่งธุรกิจการผ่อนรูปแบบนี้เข้าถึงได้ง่าย และส่วนใหญ่ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียว ทั้งนี้ ช่องทางการกู้ยืมนอกระบบข้างต้นที่เพิ่มขึ้น และเงื่อนไขการกู้ที่เอื้อต่อการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย อาจนำไปสู่พฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและความเคยชินในการก่อหนี้ รวมถึงมีความเสี่ยงของการมีหนี้สินพ้นตัวจากอัตราดอกเบี้ยนอกระบบที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่

ที่มา : สภาพัฒน์

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ