แบงก์ชาติ ชี้สมทบเงินกองทุน FIDF ไม่ใช่สาเหตุหลัก แบงก์ไม่ปล่อยกู้ เปิดทางลดดอกเบี้ย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

แบงก์ชาติ ชี้สมทบเงินกองทุน FIDF ไม่ใช่สาเหตุหลัก แบงก์ไม่ปล่อยกู้ เปิดทางลดดอกเบี้ย

Date Time: 26 ส.ค. 2567 14:00 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ผู้ว่าแบงก์ชาติแจง กองทุน FIDF ไม่ใช่สาเหตุหลัก แบงก์ไม่ปล่อยกู้ ต้นทุนการเงินไม่ใช่ปัญหา กังวลความเสี่ยงเครดิตลูกหนี้ พร้อมเปิดทางลดดอกเบี้ย หากภาวะการเงินตึงตัวรุนแรง ลามกระทบเศรษฐกิจ

Latest


เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 ในงาน BOT Press Trip เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตอบประเด็นข้อสงสัยของสื่อมวลชน หลัง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอให้ ธปท. ลดอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุน ฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ของธนาคารพาณิชย์ ลงครึ่งหนึ่งจาก 0.46% เหลือ 0.23% เพื่อให้ธนาคารมีเงินมาช่วยแก้หนี้ประชาชนมากขึ้น ประเด็นดังกล่าวทำให้สังคมเกิดความสงสัยว่า การสมทบเงินเข้ากองทุน FIDF กดดันให้ต้นทุนทางการเงินธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น จนชะลอการปล่อยสินเชื่อหรือไม่ เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงสภาพคล่องในระบบการเงิน คนทั่วไปมักนึกถึงการเติบโตของสินเชื่อ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในช่วงที่ผ่านมาการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอลง ไม่ได้มีสาเหตุหลักมาจาก ธปท. ดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ ด้วยการให้ธนาคารพาณิชย์สมทบเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในอัตรา 0.46% ของฐานเงินฝาก 

แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารพาณิชย์ โดยจะประเมินความคุ้มค่าในการปล่อยสินเชื่อ จาก 2 ปัจจัย คือ 1. ความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ 2. ต้นทุนทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันการที่ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ไม่ได้เป็นผลมาจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลง ทำให้การประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตไม่คุ้มค่า ธนาคารจึงปล่อยสินเชื่อน้อยลง โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ sme 

นอกจากนี้ การเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอลง ยังเป็นผลมาจากปัจจัยเชิงวัฏจักร (cyclical factors) ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สินเชื่อจะชะลอลง หลังจากที่เร่งตัวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การบริหารสภาพคล่องของ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมา มีจุดประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5%

เปิดทางลดดอกเบี้ย หากแบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ ฉุดเศรษฐกิจ

แม้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวตามระดับศักยภาพที่ ธปท. ประเมินไว้ แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำลังจับตาดูความเสี่ยง ระหว่างภาวะเศรษฐกิจและภาคการเงิน ซึ่งมีความเชื่อมโยงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากลูกหนี้มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แล้วธนาคารจะชะลอการปล่อยสินเชื่อ แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ เสถียรภาพการเงิน หากธนาคารประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตสูงกว่าความเป็นจริง อาจส่งผลให้ภาวะการเงินตึงตัวกว่าคาด กระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้ เช่น สินเชื่อรถยนต์ที่หดตัวลงรุนแรง ซึ่งหากภาวะการเงินตึงตัวอย่างรุนแรง ธปท. จะทบทวนจุดยืนนโยบายการเงิน โดย “เปิดกว้าง (Open)” มากขึ้นที่จะปรับดอกเบี้ย 

ชี้ลดเงินนำส่งตาม ทักษิณ ปลดหนี้ FIDF ช้าลง 

สำหรับกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนวทางให้ ธปท. พิจารณาลดอัตราสมทบเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 0.23% เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะให้คำตอบ

โดย สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ชี้แจงว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์นำส่งเงินเข้ากองทุน FIDF อัตรา 0.46% คิดเป็นมูลค่า 70,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อชำระดอกเบี้ยประมาณ 16,000 ล้านบาทต่อปี จากยอดเงินต้นอยู่ที่ 580,000 ล้านบาท ณ เดือนสิงหาคม ทั้งนี้ จะมีการนำส่งคืนหนี้ แบ่งเป็น 2 งวดต่อปี ซึ่งจะมีการจ่ายหนี้งวดแรก ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะทำให้ยอดเงินต้นลดลง 550,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หากมีการ ลดเงินนำส่งลงไปครึ่งหนึ่ง จะทำให้ปิดยอดหนี้คงค้างได้ช้าลง เนื่องจากต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาทต่อปี

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์