สินค้าท้องถิ่นไทยราคาพุ่งพรวด พาณิชย์หนุนขึ้นทะเบียน GI ยกระดับรายได้ชุมชน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สินค้าท้องถิ่นไทยราคาพุ่งพรวด พาณิชย์หนุนขึ้นทะเบียน GI ยกระดับรายได้ชุมชน

Date Time: 22 ส.ค. 2567 07:01 น.

Summary

  • “พาณิชย์” ชี้ขึ้นทะเบียน “GI” สร้างมูลค่าเพิ่มได้หลายเท่า อย่างส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ลูกละ 500 บาท จาก 150 บาท ผ้าไหมยกดอกลำพูน ผืนละแสนบาทจากหลักหมื่น ดันมูลค่าการค้ารวมทะลุกว่า 7 หมื่นล้านบาท เดินหน้าสนับสนุนขึ้นทะเบียนต่อเนื่อง สร้างรายได้ชุมชนยั่งยืน

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

น.ส.กนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้สัมภาษณ์ “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ถึงการสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นไทยให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายสร้างรากฐานเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง โดยยกระดับสินค้าท้องถิ่นผ่านการขึ้นทะเบียน GI เพื่อคุ้มครองสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่ม และควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ปัจจุบันมีสินค้าขึ้นทะเบียนในไทยแล้ว 206 รายการ และต่างประเทศ 8 รายการ สร้างมูลค่ารวมกว่า 71,000 ล้านบาท ช่วยยกระดับรายได้ และความเป็นอยู่ของเกษตรกร ผู้ผลิตท้องถิ่นให้ดีขึ้น

GI เพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นหลายเท่า

ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้ประกอบการพบว่าการขึ้นทะเบียน GI ส่งผลให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมาก สินค้าเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้น ช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี “จากข้อมูลทางการตลาดในปีงบประมาณ 66 ซึ่งสำรวจโดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าสินค้า GI มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2.68% ของสินค้าที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด หรือโดยเฉลี่ยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 3%”

สำหรับสินค้าที่ประสบความสำเร็จ (Product Champions) เช่น ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ก่อนขึ้นทะเบียน ลูกละ 150 บาท หลังขึ้นทะเบียน ราคาสูงขึ้นถึงลูกละ 500 บาท, ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์ ก่อนขึ้นทะเบียน กิโลกรัม (กก.) ละ 200 บาท หลังขึ้นทะเบียน กก.ละ 900 บาท, ผ้าไหมยกดอกลำพูน จากผืนละ 6,000-10,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็นผืนละ 22,500-100,000 บาท เป็นต้น

น.ส.กนิษฐากล่าวอีกว่า ไม่เพียงการขึ้นทะเบียนที่ทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้น แต่การที่กระทรวงพาณิชย์ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด เพื่อให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น กว้างขวางขึ้น และการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานสินค้า ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อตัวสินค้า ก็ช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าได้มากขึ้นเช่นกัน

โดยการเพิ่มช่องทางการตลาด เช่น ขยายช่องทางการตลาดผ่านห้างสรรพสินค้าชั้นนำ, จัด GI Pavilion ในงาน Thaifex-Anuga Asia ช่วงปลายเดือน พ.ค.67 สร้างยอดขายได้กว่า 391 ล้านบาท โดยสินค้าขายดี เช่น มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง อะโวคาโดตาก รวมถึงขยายช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์ ทั้ง Shopee และ Lazada, ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า, พัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม, ผลักดันให้แหล่งผลิตเป็นเส้นทางท่องเที่ยว

ยกระดับ GI สู่เมนูอาหารระดับมิชลิน

น.ส.กนิษฐากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังขยายช่องทางการค้า และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการยกระดับสินค้าผ่านเมนูอาหาร โดยร่วมกับเชฟระดับมิชลิน นำสินค้า GI มารังสรรค์เป็นเมนูอาหารในร้านอาหารระดับมิชลิน และระดับ Fine Dining เพื่อประชาสัมพันธ์ให้สินค้าเป็นที่รู้จัก และสร้างแรงบันดาลใจ นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในเมนูอาหารต่างๆ ซึ่งปีนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว

โดยมีเชฟชื่อดังอย่าง เชฟเอียน ร้าน Akanee, เชฟชุมพล ร้าน R.HAAN นำสินค้า GI มาใช้แล้ว เช่น ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา, เนื้อโคขุนโพนยางคำ, กุ้งก้ามกรามบางแพ, มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี, ทุเรียนปราจีน เป็นต้น อีกทั้งยังนำสินค้า GI กว่า 30 สินค้า มาจัดแสดงและใช้เป็นวัตถุดิบรังสรรค์เมนูอาหาร ภายในงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 ปลายเดือน มิ.ย.67 ซึ่งมีผู้เข้าเยี่ยมชม และชิมอาหารในบูธสินค้า GI กว่า 200,000 คน

นอกจากนี้ กรมยังร่วมมือกับ “Gourmet & Cuisine” นิตยสารอาหารและไลฟ์สไตล์ชั้นนำ สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้า GI และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารได้เห็นคุณค่าของสินค้า และช่วยสนับสนุนให้ใช้สินค้า GI ในเมนูอาหารด้วย ขณะเดียวกันยังส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน (Internal Control) ผ่านการอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทย ที่ออกโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และตรวจสอบย้อนกลับได้ ล่าสุดมีระบบควบคุมคุณภาพ 173 สินค้า และมีผู้ใช้ตรา GI ไทยแล้วกว่า 12,000 ราย

สำหรับปี 67 สนับสนุนการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพอีก 8 สินค้า 7 จังหวัด ได้แก่ มะม่วงมันหนองแซงสระบุรี (สระบุรี) พุทรานม บ้านโพน (กาฬสินธุ์) กล้วยหอมทองหนองบัวแดง (ชัยภูมิ) มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบ้านโหล่น (ชัยภูมิ) ทุเรียนทองผาภูมิ (กาญจนบุรี) มังคุดทิพย์พังงา (พังงา) เกลือสมุทรแม่กลอง (สมุทร สงคราม) ครุน้อยบ้านสะอางศรีสะเกษ (ศรีสะเกษ) พร้อมกับส่งเสริมการควบคุมตรวจสอบตามมาตรฐานสากล (External Control) อีก 8 สินค้า 8 จังหวัด คือ กาแฟดอยตุงและกาแฟดอยช้าง (เชียงราย) มะขามหวานเพชรบูรณ์ (เพชรบูรณ์) ผ้าไหมยกดอกลำพูน (ลำพูน) ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง (นครศรีธรรมราช) พริกไทยตรัง (ตรัง) ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง (พัทลุง) และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ (ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ)

หนุนตีทะเบียนสินค้าอัตลักษณ์ไทย

น.ส.กนิษฐากล่าวต่อว่า กระทรวงพาณิชย์ จะเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนให้สินค้าอัตลักษณ์ สินค้าท้องถิ่นไทย ขึ้นทะเบียน GI ต่อเนื่อง โดยปี 67 มีแผนสนับสนุนการขึ้นทะเบียน 20 สินค้า ขึ้นทะเบียนแล้ว 16 สินค้า เช่น ข้าวเบายอดม่วงตรัง มังคุดทิพย์พังงา อะโวคาโดตาก ผ้าหมักโคลนบึงกาฬ กล้วยหอมทองเพชรบุรี ลิ้นจี่จักรพรรดิฝาง หินอ่อนพรานกระต่าย ฯลฯ และอยู่ระหว่างประกาศโฆษณา เช่น กาแฟดอยมูเซอ กระท้อนนาปริกสตูล ฯลฯ

ส่วนในต่างประเทศ หลังจาก 8 สินค้าได้รับความคุ้มครองครอบคลุมกว่า 33 ประเทศแล้ว ล่าสุด อีก 9 สินค้า อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อรับจดทะเบียนในต่างประเทศ เช่น มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ ไวน์เขาใหญ่ ฯลฯ “กระทรวงพาณิชย์จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการขึ้นทะเบียน GI สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ สินค้าท้องถิ่นไทย เพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง เผยแพร่สินค้าให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงส่งเสริมช่องทางการตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ