สปป.ลาว เป็นคู่ค้าอันดับที่ 7 ของไทย ในกลุ่มอาเซียน และเป็นคู่ค้าชายแดน อันดับ 3 โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา การค้ารวมไทย-สปป.ลาว มีมูลค่ามากถึง 2.64 แสนล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า ในทุกๆปี โดยเฉพาะ ในมิติของการค้าชายแดน ผ่านทางภาคอีสาน
อย่างไรก็ดี ปัญหา และ ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ของ สปป.ลาว ที่ยังไม่สามารถฟิ้นตัวได้เท่าก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ก็ได้ส่งผลกระทบต่อ เศรษฐกิจระดับพื้นที่ของอีสานแล้วด้วยเช่นกัน
ล่าสุด กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ออกรายงาน สถานการณ์เศรษฐกิจ สปป.ลาว ประจำเดือน ก.ค.2567 โดยสรุปได้ว่า ขณะนี้ วิกฤติทางเศรษฐกิจการเงิน สปป.ลาว ยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้นตัวได้ เนื่องจากระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจเปราะบาง ขนาดเศรษฐกิจเล็ก
ขณะระดับการอ่อนค่า ของเงินกีบ ยังคงน่าเป็นห่วง อัตราเงินเฟ้อสูง สินค้าราคาแพง ทำให้คนลาว เผชิญ กับปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนตัวเลขหนี้สาธารณะ พุ่งระดับ 108 % ต่อ GDP เป็นตัวเลขที่มากกว่า 13,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นหนี้ที่กู้จากต่างประเทศ มากถึง 10,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ถึงกำหนดเวลาต้องชำระคืนเงินต้นทุน และ ดอกเบี้ยแล้ว
ทั้งนี้ ล่าสุด กระทรวงการเงิน สปป.ลาว เพิ่งออกมาระบุว่า ในปี 2567 รัฐบาลต้องการเงินตราต่างประเทศ สำหรับใช้ในการบริหาร และ ชำระหนี้ อย่างน้อย 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ด้วย สถานการณ์เงินตรา ที่ยังขาดแคลน ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ยังมีเพียง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
เจาะการบริโภคภายในประเทศ สินค้าของ สปป.ลาว ยังมีความผันผวน และ ปรับราคาเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าวสาร เทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นมา 18.7% ,เครื่องดื่ม ราคาเพิ่มขึ้น 37% หรือ แม้กระทั่ง ราคาสุรา ก็ปรับเพิ่มขึ้น 42% , ที่พักอาศัย น้ำประปา ไฟฟ้า และ เชื้อเพลิงหุงต้ม เมื่อเทียบต่อปี ดัชนีเพิ่มขึ้น ถึง 34% เลยทีเดียว
โดย เงินเฟ้อ สปป.ลาว ณ เดือน ก.ค. 2567 เพิ่มขึ้น 26.1% ซึ่งมากจากสาเหตุ ต่างๆ
อย่างไรก็ดี อีกปัญหา ที่ สปป.ลาว กำลังเผชิญ คือ การขาดแคลนแรงงานในประเทศ ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะ ชายหนุ่มหญิงสาว ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน และ วัยทำงาน ไปยืนต่อคิวที่กรมการจัดหางาน เพื่อยื่นเอกสารประกอบการสมัครไปทำงานต่างประเทศ ตามที่ รัฐบาล สปป.ลาว ได้ลง MOU ร่วมกับประเทศที่ต้องการ เช่น ไทย และ เกาหลีใต้
โดยพบว่า แรงงานที่สมัครไปทำงานในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษาที่เรียนจบใหม่ และ นักเรียนที่เพิ่งจบจากระบบสามัญศึกษา ซึ่งไม่เลือกที่จะเรียนต่อในระดับวิชาชีพ หรือ มหาวิทยาลัย เนื่องจากมองไม่เห็น อนาคตภายหลังสำเร็จการศึกษา
โดยใน สปป.ลาว ยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานรับรองเงินเดือน เริ่มต้นของผู้ที่จบการศึกษาในระดับต่างๆ และ /หรือ ไม่สามารถหางานทำตามสาขา ที่เรียนจบมาได้ ส่วนใหญ่ขึ้นกับความพอใจของผู้ว่าจ้างเป็นสำคัญ
ทำให้ธุรกิจขนาดกลาง และ ขนาดย่อม (SMEs) ในสปป.ลาว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และ อื่นๆ กำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติแรงงาน ที่ลงประกาศรับสมัคร และ ไร้คนสมัคร เนื่องจากประชาชนวัยทำงาน ต่างรู้ดีว่า บริษัทเหล่านั้น ให้ค่าตอบแทนน้อย ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ไม่ลงรอยกันระหว่างผู้ประกอบการกับแรงงานที่ภาครัฐ ไม่เข้าไปแก้ไข เพื่อให้เกิดความสมดุล.
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney