อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย กำลังเป็นเพียงอดีตที่เล่าขาน! จากผู้ผลิต สู่ ผู้ประกอบในมือต่างชาติ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย กำลังเป็นเพียงอดีตที่เล่าขาน! จากผู้ผลิต สู่ ผู้ประกอบในมือต่างชาติ

Date Time: 20 ส.ค. 2567 11:17 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย อาจกำลังเป็นเพียงอดีตที่เล่าขาน! หลัง “สินค้า” เสื่อมความนิยมอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีล้าหลังตลาดโลก จับตาบทบาทในอนาคต อาจถูกลดทอน จากผู้ผลิต สู่ ผู้ประกอบ ในมือต่างชาติ ที่ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Latest


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าจำพวกหน่วยความจำ Hard Disk Drive (HDD) ที่เคยสร้างรายได้ในปี 2565 กว่า 4.55 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 19% ของมูลค่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ผ่านไปแค่ปีเดียว มูลค่าของสินค้าดังกล่าวกลับลดลงเหลือ 3.53 แสนล้านบาท หรือลดลงกว่า 22.5% ในปี 2566 จากการที่ภาคการผลิตไทยยังตามไม่ทันเทคโนโลยีโลกกับระบบหน่วยความจำในยุคปัจจุบันอย่าง SSD (Solid State Drive) ที่ถูกพัฒนาต่อเนื่องจนมีข้อได้เปรียบเกือบทุกมิติ

ทั้งมีขนาดเล็กกว่า น้ำหนักเบา ความเร็วในการส่งข้อมูล และราคาขายต่อหน่วยความจำที่ใกล้เคียงกับ HDD มากขึ้น จึงส่งผลให้ SSD ได้รับความนิยมมากขึ้น

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย กับ นัยทางเศรษฐกิจ

ความอ่อนแอของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่นับว่ามีบทบาททางเศรษฐกิจสูง สร้างเม็ดเงินสูง 2.5 ล้านล้านบาท (ปี 2566) รวมถึงเป็นแหล่งการจ้างงานสำคัญ จากการเป็นผู้ผลิตและโรงงานประกอบ ใช้แรงงานสูงกว่า 120,000 ตำแหน่ง จึงกำลังส่งสัญญาณออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

สอดคล้องกับการปิดโรงงานอุตสาหกรรมในไทย ยอด 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 2567) โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมรายงานรวมอยู่ที่ 667 แห่ง เงินทุน 18,878 ล้านบาท และเลิกจ้างคนงาน 19,706 ตำแหน่ง

โดย Economic Outlook ของสภาพัฒน์ วานนี้ยังมีการระบุถึงการแจ้งปิดกิจการโรงงานอุตสาหกรรมว่าได้สื่อถึงนัยทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างชัดเจน ที่ต้องชวนกันจับตามองและหาทางออก เพื่อให้ไทยสามารถอยู่รอดและสามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านสำคัญครั้งนี้

เดินหน้าเข้าสู่ ยุคเสื่อมถอย เพราะความล้าหลังทางเทคโนโลยี

ขณะศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics วิเคราะห์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยว่า ความเสื่อมถอยดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจ จากการหมุนเวียนของเงินผ่านการบริโภคของแรงงานตามพื้นที่ประกอบการที่กระจายอยู่แต่ละภูมิภาคของประเทศ

รวมถึงผลที่ตามมาต่อเศรษฐกิจจากการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ให้กลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น การจัดหาวัตถุดิบที่เกี่ยวข้อง อย่างชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรพิมพ์

“อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยในระยะถัดไป กำลังจะเข้าสู่ช่วงถดถอย หากไทยไม่เร่งปรับเพื่อเปลี่ยน อุตสาหกรรมดังกล่าวอาจเป็นเพียงอดีตที่เล่าขาน”

ทั้งนี้ เพราะแนวโน้มของปี 2567 แม้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับแรงหนุนจากกลุ่มสินค้าจำพวกอุปกรณ์ใช้ในกลุ่มคอมพิวเตอร์ กลุ่มเทคโนโลยีสื่อสาร และกลุ่มจัดการพลังงาน แต่ด้วยการหดตัวของกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจรรวมและกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลให้การเติบโตจำกัดแค่เพียง 0.2% เท่านั้น

จากบทบาทผู้ผลิต ที่อาจถูกลดทอน เป็นผู้รับจ้างประกอบให้ต่างชาติ 

ความน่ากังวลก็คือ การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีที่รวดเร็วขึ้น จะส่งผลให้สินค้าที่ผลิตได้ในประเทศกลายเป็นสินค้าเทคโนโลยีที่ล้าสมัย และเมื่อเทคโนโลยีที่ล้าสมัยเริ่มไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยียุคใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

ผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ควรกังวลสำหรับเศรษฐกิจไทย เพราะอย่างที่ระบุ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยนับเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้และการจ้างงานมหาศาลมาตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน

“การข้ามขั้นตอนการใช้เทคโนโลยีเดิม แล้วเริ่มจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์พกพาที่ใช้แพร่หลายในปัจจุบันใช้ SSD เป็นส่วนประกอบหลัก ก็คงไม่มีความจำเป็นต้องย้อนกลับไปใช้ HDD อีกต่อไป”

อีกตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบคือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทวงจรรวม (Integrated Circuit) โดยไทยผลิตและส่งออก Non-Processor IC เป็นหลัก ซึ่งสามารถตอบสนองอุตสาหกรรมดั้งเดิมของไทยได้ดี เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีทำให้สินค้าต่างๆ ถูกพัฒนาให้ประมวลผลหรือปรับเปลี่ยนระบบอัจฉริยะ จึงก้าวกระโดดไปใช้ Processor IC มากขึ้น เช่น อุปกรณ์ IoT ระบบควบคุมยานยนต์ สมาร์ทโฟน หรือสิ่งต่างๆ ที่ต้องการเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานให้สะดวกและใช้งานง่ายขึ้น

ท้ายที่สุด ttb analytics สรุปไว้ว่า จากการขาดความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนสูง ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญต่อสินค้าในปัจจุบัน รวมถึงปัญหาต้นทุนการผลิตในไทยที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

อาจทำให้ไทยถูกเปลี่ยนสถานะ ลดทอนบทบาทจาก “ผู้ผลิต” เป็นผู้รับจ้างประกอบ ส่งผลให้เม็ดเงินที่ควรเป็นของผู้ประกอบการในประเทศกลับต้องสูญเสียให้กับผู้ผลิตต่างชาติ และส่วนที่เป็นรายได้ที่แท้จริงของผู้ประกอบการไทย อาจเหลือเพียงค่าแรงที่มีสัดส่วนน้อยเท่านั้น หากอุตสาหกรรมไทยยังไม่ปรับตัว

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ