นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า วันที่ 16 ส.ค.นี้ กรมได้เชิญผู้ประกอบการไทยในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น กลุ่มเซรามิก เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ มาหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา และลดผลกระทบให้ผู้ประกอบการเป็นการเร่งด่วน ซึ่งในเบื้องต้น จะใช้กฎหมายและมาตรการเยียวยาทางการค้า ที่กรมดูแลมาดำเนินการ แต่การใช้มาตรการใดๆ ต้องไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นไปตามกฎกติกาสากล และไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้าระหว่างกัน
“กรมมีมาตรการเยียวยาทางการค้าหลายมาตรการที่จะนำมาใช้ดำเนินการกับสินค้านำเข้าได้ หากการนำเข้าทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่ม (เอดี) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน หรือมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) ซึ่งที่ผ่านมากรมได้ใช้ทั้ง 3 มาตรการกับสินค้าจำนวนมาก แต่ในระหว่างใช้มาตรการ ผู้ประกอบการในประเทศก็ต้องปรับตัว เพื่อให้พร้อมรับการแข่งขันด้วย”
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการสินค้าใดได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้า สามารถยื่นคำขอให้กรมเปิดการไต่สวน เพื่อใช้มาตรการดังกล่าวได้ทันที
ส่วนการลงพื้นที่ตรวจสอบการขายสินค้าราคาถูกที่นำเข้าจากต่างประเทศว่าทำธุรกิจในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายของไทยหรือไม่ เช่น จดทะเบียนพาณิชย์ จดทะเบียนนิติบุคคลหรือไม่ มีคุณภาพมาตรฐานตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ได้มาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ ฯลฯ นายรณรงค์กล่าวว่า กรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ไปตรวจสอบแล้วตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา และกำลังจะไปตรวจสอบคลัง สินค้า ซึ่งเป็นที่พักสินค้านำเข้าและรอการจัดส่งให้กับผู้บริโภคไทย และยังมีแผนลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า สิ่งที่กรมดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายที่กำกับดูแล ได้แก่ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 คือ การตรวจสอบว่าเป็นนิติบุคคลต่างด้าวหรือไม่ หากเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ก็ต้องเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยให้ถูกต้อง และไม่ควรมีนิติกรรมอำพราง หรือให้คนไทยถือหุ้นแทน (นอมินี) เพื่อเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งทุกปีกรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะตรวจสอบธุรกิจเป้าหมาย ที่อาจเข้าข่ายเป็นนอมินีอยู่แล้ว ทั้งธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร ฯลฯ และหากพบเป็นนอมินี หรือทำธุรกิจอย่างไม่ถูกต้อง ได้ส่งดำเนินคดีแล้วทั้งหมด
นอกจากนี้ กรมยังได้ช่วยเสริมสร้างศักยภาพ พัฒนาทักษะในด้านต่างๆให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้สามารถปรับตัวรองรับการแข่งขัน และทำธุรกิจให้อยู่รอดได้ในปัจจุบันที่รูปแบบการค้าเปลี่ยนไปมาก เช่น ติวเข้มในเรื่องการขายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ การทำดิจิทัล มาร์เกตติ้ง พัฒนาสินค้าให้เข้ากับเทรนด์โลก เพราะหากผู้ประกอบการไม่ปรับตัว หรือเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ท้ายที่สุดก็อาจไม่รอด
ด้านนายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ประกอบการ “ชามไก่ลำปาง” ซึ่งเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ของลำปางระบุว่าได้รับผลกระทบจากสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการต้องเผชิญกับความท้าทาย เช่น ทรัพยากรดินขาวและดินดำในพื้นที่ที่เริ่มขาดแคลน ส่งผลให้ผู้ประกอบการลดน้อยลง ประกอบกับการค้าที่มีการแข่งขันสูงทั้งภายในและภายนอกประเทศ ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจและปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์
“กรมพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งในแง่ของการต่อยอดพัฒนาคุณภาพสินค้า การสร้างแบรนด์สินค้าให้เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการต่อยอดมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม สร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยการใช้ชื่อ “ชามไก่ลำปาง” หรือใช้ชื่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว เพื่อประกอบการจำหน่ายสินค้าโดยมิชอบ เข้าข่ายเป็นการละเมิดจีไอ ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หากประชาชนพบเห็นการจำหน่ายสินค้าละเมิดจีไอ แจ้งเบาะแสผ่านเว็บไซต์ www.ipthailand.go”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่