นายพรชัย ฐีระเวช โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวคิดการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (นากก้า) กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะร่วมกันหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยกร่างกฎหมายจัดตั้งนากก้า และนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป การจัดตั้งนากก้า เพื่อยกระดับกลไกการค้ำประกันของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้มีประสิทธิภาพและสามารถส่งเสริมให้เอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายย่อย เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายได้ด้วยต้นทุนทางการเงินในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับความเสี่ยงมากขึ้น
“นากก้ามีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ทำให้การดำเนินการค้ำประกัน มีความรวดเร็วและยืดหยุ่นพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐน้อยลง อีกทั้งมีขอบเขตและรูปแบบการค้ำประกันที่มีความหลากหลาย มีกลไกการคำนวณค่าธรรมเนียม ค้ำประกันที่อิงตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้”
สำหรับนากก้ามีเป้าหมายและพันธกิจหลัก ดังนี้ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดต้นทุนทางการเงิน เช่น ค้ำประกันแหล่งทุนจากสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) การค้ำประกันหุ้นกู้ของเอสเอ็มอี เป็นต้น โดยค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันจะอิงตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินในการเข้าถึงแหล่งทุนของเอสเอ็มอีได้ ส่วนการค้ำประกันสินเชื่อของนากก้า จะเน้นการค้ำประกันโดยตรงและรายสัญญา ซึ่งลูกหนี้จะขอให้นากก้าค้ำประกันเครดิตของตน และเมื่อได้รับการค้ำประกันแล้ว ลูกหนี้สามารถเลือกธนาคารหรือ Non-bank ที่ให้อัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทของลูกหนี้มากที่สุด ทำให้เพิ่มอำนาจในการต่อรองให้แก่เอสเอ็มอีในการเข้าถึงแหล่งทุน
“เพื่อให้การส่งเสริมเอสเอ็มอีครบวงจรและเบ็ดเสร็จ นากก้าจะทำหน้าที่ในการให้ความรู้และคำปรึกษาทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึง แหล่งเงินทุนที่หลากหลายอีกด้วย”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่