คนอเมริกัน จำใจทำงานต่อ แม้อยากลาออก กลัวไม่มีกิน กังวลเศรษฐกิจถดถอย แม้เฟดจะลดดอกเบี้ย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

คนอเมริกัน จำใจทำงานต่อ แม้อยากลาออก กลัวไม่มีกิน กังวลเศรษฐกิจถดถอย แม้เฟดจะลดดอกเบี้ย

Date Time: 14 ส.ค. 2567 14:18 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ไม่ใช่แค่ไทย คนอเมริกัน กลัว "ตกงาน" กันทั่วหน้า ไม่กล้าลาออก มองเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว แม้ GDP โตแกร่ง สวนทางเงินเฟ้อ

Latest


ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นหลังโควิด ส่งผลให้การจ้างงานชะลอลงตาม แต่สหรัฐฯ ดูเหมือนจะเป็นประเทศเดียวที่การเติบโตทางเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง ท่ามกลางเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงถึง 5.25%-5.50% สะท้อนจาก GDP ในไตรมาส 2/2567 ที่เติบโต 2.8% สูงกว่าไตรมาสแรกซึ่งอยู่ที่ 1.9% และการจ้างงานที่เติบโตต่อเนื่อง 42 สัปดาห์ติดต่อกัน 


แม้ตัวเลขเศรษฐกิจในภาพใหญ่จะออกมาแข็งแกร่งเกินคาด แต่คนส่วนมากในประเทศกลับรู้สึกสวนทาง โดยมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังอยู่ในภาวะถดถอย สะท้อนจากความอ่อนไหวของนักลงทุนที่เทขายหุ้นสหรัฐฯ อย่างหนัก ลามกระทบถึงหุ้นเอเชียในช่วงเช้าวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดหุ้นญี่ปุ่น Nikkei225 ที่ปรับตัวลงมากกว่า 10% หลังตัวเลขอัตราว่างงานสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นสู่ระดับ 4.3% ในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ข้อมูลล่าสุดจาก Glimpse ยังชี้ให้เห็นว่าคนอเมริกัน สนใจค้นหาคำว่า “recession” บน Google เพิ่มขึ้นถึง 230% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา


ขณะที่ความสนใจในการค้นหาคำว่า "ลาออกจากงาน" บน Google ลดลง 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้คีย์เวิร์ด “ออกจากงานไม่ได้” กลายเป็นคำที่ถูกค้นหาบ่อยขึ้น โดยคนให้ความสนใจเพิ่มขึ้น 9% ในช่วงปีที่ผ่านมา สิ่งนี้กำลังสะท้อนว่าคนอเมริกัน กังวลเศรษฐกิจถดถอย จนไม่กล้าลาออกจากงาน เพราะมองว่างานหายากขึ้น เลยทำให้หลายคนต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม ฝืนทำงานที่ไม่ชอบ เพราะกลัวไม่มีกิน


จึงเป็นที่มาว่าทำไมอัตราการลาออกในสหรัฐฯ ถึงเติบโตช้าที่สุดนับตั้งแต่โควิด โดยอัตราการลาออกลดลงเหลือเพียง 2.1% ในเดือน ก.ค. ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงาน สอดคล้องกับผลสำรวจประจำปีของ Conference Board สถาบันวิจัยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่พบว่า ดัชนีความพึงพอใจในงานของคนอเมริกันที่ปรับลดลง ใน 26 รายการ ในช่วงปีที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับปี 2565 ความพึงพอใจโดยรวมแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง โดยเพิ่มขึ้น 0.4 จุดเป็น 62.7% นอกจากนี้ยังพบว่า คนที่ลาออกจากงานตั้งแต่โควิด มีแนวโน้มไม่พอใจกับงาน มากกว่าคนที่ยังไม่ลาออก


Korn Ferry บริษัทที่ปรึกษาให้บริการเปลี่ยนสายงานและจัดหางานใหม่ ในสหรัฐฯ พบว่า มีลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาให้ช่วยหางานมากขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับการจ้างที่เร่งขึ้นหลังโควิด สิ่งนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ตลาดแรงงานกำลังชะลอตัวลง ทำให้ปัจจุบันคนใช้เวลาในการหางานนานขึ้น และเลือกงานโดยพิจารณาความมั่นคงในการทำงานเป็นอันดับแรก 


 "ผู้คนยังลังเลที่จะลาออกจากงานเพื่อมองหางานอื่น เว้นแต่ว่าจะรู้สึกว่าจะได้งานที่มั่นคงและอยู่ได้ยาวนาน" ประธานบริษัท Korn Ferry ประจำอเมริกาเหนือ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า การจ้างงานจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเฟดจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินแล้วก็ตาม โดยผลสำรวจล่าสุดของสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติ (NFIB) พบว่า มีธุรกิจขนาดเล็ก เพียง 15% เท่านั้นที่มีแผนจะจ้างงานใหม่ ในเดือน ก.ค.

อ้างอิง

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์