“ค่าครองชีพ” ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ “รายได้” กลับมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ทำให้เหลือเงิน หลังหักภาระการชำระหนี้รายเดือนน้อยลง ความสามารถในการกู้เพิ่ม จึงลดลงตามไปด้วย
นี่คือภาพสะท้อนความเป็นจริงของลูกหนี้ “คนไทย” ในปัจจุบัน ที่ถูกปัญหาหนี้ครัวเรือน เล่นงาน และภาวะเศรษฐกิจกดดัน ส่งผลแนวโน้มสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย อยู่ในช่วงขาลงอีกด้วย
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. รายงานภาวะและแนวโน้มสินเชื่อของสถาบันการเงิน ในไตรมาส 2/2567 พร้อมยังมองออกไปในระยะ 3 เดือนข้างหน้า พบว่าความต้องการสินเชื่อชะลอลง ทั้งจากภาคธุรกิจและครัวเรือน
สอดคล้องบทวิเคราะห์ล่าสุดของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ แนวโน้มสินเชื่อช่วงที่เหลือปี 2567 เติบโตต่ำ ทั้งสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่, สินเชื่อเอสเอ็มอี, สินเชื่อบ้าน, บัตรเครดิต, สินเชื่อเช่าซื้อรถ และอุปโภคบริโภคอื่นๆ
เจาะลึกพบว่านับจากต้นปี 2567 ที่ผ่านมา สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย มีภาพค่อนข้างอ่อนแอ โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 สินเชื่อหดตัว 0.2% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ซึ่งเป็นการหดตัวรายไตรมาสเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2552 โดยสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยหดตัวลง 1.3% YoY และหดตัวลง 0.03% YoY ในไตรมาส 2/2567 ตามลำดับ
สถานการณ์สินเชื่อดังกล่าว สอดคล้องกับทิศทางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ หลังเผชิญปัจจัยถ่วงจากทั้งในและนอกประเทศ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ซึ่งมีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อใหม่
ประกอบกับในช่วงไตรมาสที่ 2/2567 ยังคงมีแรงกดดันจากการทยอยชำระคืนสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อภาครัฐและภาคธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยมีสัญญาณชะลอตัวในภาพรวม
ทั้งนี้ คาดว่าแม้ในช่วงที่เหลือ ตลาดสินเชื่อยังมีโอกาสเติบโตเร่งขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก แต่อัตราการเติบโต ณ สิ้นปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5% ต่ำกว่าเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.0% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจที่วัดจากจีดีพี ณ ราคาประจำปี (Nominal GDP Growth) เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว
การปรับลดประมาณการสินเชื่อปี 2567 ของระบบแบงก์ไทยในรอบนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้เหตุผลว่า โดยหลักๆ แล้ว เป็นผลมาจากสถานการณ์สินเชื่อรายย่อย ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 36.8% ของสินเชื่อรวม ซึ่งตัวฉุดรั้งหลักมาจากสินเชื่อเช่าซื้อที่คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หลังเผชิญปัญหาความต้องการซื้อรถใหม่ที่ลดลงมากกว่าคาด
“หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง กดดันความสามารถในการกู้ยืมก้อนใหม่ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยที่มีวงเงินสูง (Big-Ticket Items) อย่างเช่นสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นภาพที่ปรากฏชัดเจนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะปัญหาความสามารถในการกู้ยืมหนี้ของลูกหนี้ที่ถดถอยลงดังกล่าว สะท้อนผ่านหนี้ด้อยคุณภาพของสินเชื่อระบบแบงก์ไทยที่มีทิศทางขาขึ้นอีกด้วย”
จับสัญญาณตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ต้องยอมรับว่าอยู่ในห้วงวิกฤติ เนื่องจากยอดปฏิเสธสินเชื่อ (รีเจกต์) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคำบอกเล่าของบริษัทพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ระบุว่า ยอดรีเจกต์บางโครงการสูงถึง 60-70%
ในประเด็นดังกล่าว “อิสระ บุญยัง” ประธานกรรมการ สมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยวานนี้ในเวทีสัมมนา “ดอกเบี้ยลด.. ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ-อสังหาฯ-ตลาดทุน? ที่จัดขึ้นโดยสำนักข่าว “ฟูลแม็กซ์” ว่า หลังจากโควิด-19 การฟื้นตัวของประเทศไทยอยู่ในลักษณะไม่สมดุล แบบ K-Shaped โดยกลุ่ม SME และรายย่อย ยังคงอยู่ในภาวะยากลำบาก มีรายได้ลดลง ต่างจากกลุ่มคนฐานะดี ฟื้นตัวได้เร็ว จนทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัย แม้จะยังมีดีมานด์ความต้องการอยู่ก็ตาม แต่ผู้ซื้อไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้
ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จึงอยากเสนอว่า การลดอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะหากดอกเบี้ยสูง จะมีค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์สูงขึ้น
ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2567 ธนาคารของรัฐได้เข้ามานำร่องลดดอกเบี้ยในกลุ่มอสังหาฯ และกลุ่มเอสเอ็มอีได้ผลสูงมาก วงเงินสินเชื่อในแต่ละครั้งก็หมดลงอย่างรวดเร็ว จึงคาดว่ามาตรการลดดอกเบี้ยสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วมากกว่าแนวทางอื่นๆ
ทั้งนี้ กูรูอสังหาฯ คนเดิม ยังระบุ วิกฤติเศรษฐกิจในช่วงนี้ แตกต่างจากช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 อย่างมาก พร้อมหวั่นว่าวิกฤติลามจากระดับล่าง สะเทือนถึงระดับบน วอนรัฐปรับโครงสร้างการเงินทั้งระบบให้ดีมานด์เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และช่วยลดภาระหนี้อย่างยั่งยืน
สอดคล้องกับข้อมูลของ “ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์” รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ดีมานด์ยังต้องการซื้อบ้าน แต่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ เพราะมีเกณฑ์ต่างๆ เข้มข้น ทำให้กำลังซื้อหดตัว นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ตลาดหดตัวอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่จากคนฐานล่างไปสู่ธุรกิจระดับบน จากที่สินเชื่อในกลุ่มคอนโดฯ หดตัว ลามไปสู่บ้านเดี่ยว แตกต่างจากวิกฤติในปี 2540 ที่กระทบจากบนลงล่าง เมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจะส่งผลไปสู่กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามมา
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney