อย่าปล่อยให้ผู้ผลิตล้ม-คนตกงาน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

อย่าปล่อยให้ผู้ผลิตล้ม-คนตกงาน

Date Time: 13 ส.ค. 2567 05:12 น.

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ยังคงเป็นอีกสัปดาห์ที่คนไทยจะต้องจับตาประเด็นทางการเมืองที่ร้อนแรง หลังจากพรรคก้าวไกลถูกยุบไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยวันที่ 14 ส.ค.หรือวันพรุ่งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยตัดสินคดีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในคดีข้อกล่าวหาผิดจริยธรรมแต่งตั้งรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีเองก็ยอมรับว่า “มีความกังวล” เพราะคำตัดสินที่จะออกมา มีผลโดยตรงต่อการเดินหน้าดำเนินการตามนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลวางไว้ และมีผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุนไทยและต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะเดียวกันก็ต้องจับตาดูการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 13 ส.ค.หรือวันนี้ว่าจะมีการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรออกมาเพิ่มเติม เพื่อเป็นกลไกสำคัญชะลอผลกระทบหรือไม่

เพราะในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขุนคลังทั้งสามได้ออกให้สัมภาษณ์ไปในทางเดียวกันว่า กระทรวงการคลังกำลังเตรียมที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆออกมาก่อน ในช่วงระหว่างรอการตัดริบบิ้นเริ่มใช้เงินหมื่นในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ทั้งนี้ สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายแห่ง รวมทั้งผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ยังคงมองว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังอาจจะไม่ได้มีแรงดีดมากมาย ผลจากรายได้ของภาคแรงงานที่ฟื้นตัวช้า ปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตที่อยู่ในยุคเก่า และยอดขายของธุรกิจที่ถูกแย่งไปต่อหน้าต่อตาจากสินค้าจีนราคาถูกที่ทะลักเข้ามา ทั้งการขายแบบออนไลน์ และออฟไลน์

ทั้งนี้ สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นการเติมเงินสู่กระเป๋าประชาชน และคาดว่าจะเริ่มใช้ในเดือน พ.ย. แต่จะเป็นช่วงต้น กลาง หรือปลายเดือนนั้นยังไม่ชัด ต้องรอสรุปจำนวนผู้ที่ลงทะเบียน และได้รับสิทธิ์อย่างเป็นทางการ ประเภทและจำนวนร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งการเตรียมการในการเชื่อมต่อช่องทางการชำระเงินระหว่างแอปพลิเคชันทางรัฐ และแอปพลิเคชันธนาคารอื่นๆให้เสร็จสิ้นก่อน

ขณะที่สิ่งสำคัญในตอนนี้ คือ การรักษาระดับการจ้างงาน และพยุงรายได้ของ คนกลุ่มเปราะบางไว้สักระยะ ไม่เลิก ไม่ล้มกิจการไปเสียก่อนที่ “พายุหมุนดิจิทัลวอลเล็ต” จะทำงาน

ดังนั้น มาตรการที่รัฐจะออกมา จึงควรมีผลที่จะช่วยต่ออายุภาคการผลิต และเอสเอ็มอี ให้สามารถเผชิญหน้ากับปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ต้นทุนพุ่ง ยอดขายตก คนซื้อลด รวมทั้ง การเป็นผู้ผลิตที่ “ตกรุ่น” ของโลกได้

โดยมาตรการดังกล่าว อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นมาตรการสินเชื่อ แต่เป็นการลดหรือบรรเทาภาระการเงินที่สูงขึ้นเฉพาะหน้า เพื่อรออานิสงส์จากภาคท่องเที่ยวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง และรอ ลุ้นการส่งออกให้ฟื้นตัวกลับมา โดยหากโชคดีมาตรการช่วยเหลือออกมาทันเวลาและได้ผลดี การใช้จ่ายเงินดิจิทัลคล่องตัวไม่ติดขัด การเมืองเป็นไปตามหลักการและเหตุผลที่เหมาะสม โอกาสที่ไทยจะกลับเข้าวงโคจรของเศรษฐกิจโลกได้ใหม่ในปีหน้า...ก็พอมีให้ลุ้นระทึก

มิสเตอร์พี

คลิกอ่าน "กระจก 8 หน้า" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ