ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วิถีชีวิตของคนอีสานมีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรมที่มีรายได้ไม่แน่นอน ดังจะเห็นได้ว่า แรงงานอีสานส่วนใหญ่ จึงเคลื่อนย้ายออกไปทำงานนอกภูมิภาค
ตามข้อมูลของ แบงก์ชาติ ระบุไว้ว่า มีประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในภาคกลางประมาณ 2.7 ล้านคน (อยู่กรุงเทพฯ 1.2 ล้านคน) กระจายอยู่ในกลุ่ม ลูกจ้าง ภาคผลิต บริการ และก่อสร้าง เหลือแรงงานในภาคอีสานประมาณ 9.5 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพอิสระถึง 70%
อย่างไรก็ดีในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญ พบประชากรอีสานกลับคืนถิ่นมากถึง 6.5 แสนคน ก่อนหวนกลับไปทำงานในจังหวัดต่างๆ อีกครั้ง เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นกลับมา
ซึ่งนี่เองยังคงทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของอีสานอ่อนแอ ตลาดแรงงานน่าห่วง แรงงานน้อย ขณะผู้สูงอายุมีมากขึ้น และภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ล่าสุด ISAN INSIGHT & OUTLOOK โครงการภายใต้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกบทรายงานภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำเดือน ก.ค.2567
โดย ระบุว่า เศรษฐกิจภาคอีสาน กำลังอยู่ในภาวะน่าห่วงที่สุดในรอบ 30 ปี ด้วยแรงกดดันจากหลายปัจจัย ใจความสำคัญคือ เมื่อเทียบ GDP หลังเกิดวิกฤติในแต่ละครั้ง รอบปีล่าสุด หลังวิกฤติโควิด อีสาน มี GDP ที่เติบโตต่ำลง เหลือเพียง 2.2% เท่านั้น
ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนของคนในพื้นที่ และสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ กระทบทั้งรายย่อยและกลุ่มผู้ประกอบการ ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนของอีสานหดตัวต่อเนื่อง
อีสานอินไซต์ รายงานว่า เห็นการขยายตัวของเศรษฐกิจอีสานที่อยู่ในอัตราซึ่งลดลงต่อเนื่อง ตามช่วงเวลาการเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจสำคัญในแต่ละครั้ง ตั้งแต่ช่วงปี 2538 สะท้อนถึงศักยภาพของเศรษฐกิจในภาพรวมโตต่ำกว่าคาดการณ์
วิกฤติเศรษฐกิจครั้งล่าสุดได้ฉุดให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดของอีสานมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงชัดเจน ซ้ำร้ายบางกิจกรรมธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการค้าเผชิญแรงกดดันที่ทำให้ภาคธุรกิจชะลอตัว
เจาะจำนวนปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรมของอีสาน ณ ครึ่งปีแรก 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) แม้ปรับตัวลดลง แต่มูลค่าเงินทุนและจำนวนแรงงานของโรงงานที่ปิดกลับเพิ่มขึ้นอยู่ที่กว่า 902 ล้านบาท สะท้อนว่าโรงงานที่ปิดกิจการส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งกระทบต่อจ้างงานในภาคอีสานกว่า 600 ตำแหน่ง
“จำนวนโรงงานเปิดใหม่น้อยกว่าโรงงานปิดตัวนั้น คือ กลุ่มการผลิตวัสดุที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง เนื่องจากความต้องการใช้ลดลงตามภาวะการก่อสร้างในอีสานที่ยังชะลอตัว”
ขณะภาคการท่องเที่ยวของอีสานนั้น ในข้อมูลชุดเดียวกันพบว่า อยู่ในทิศทางบวก อีสานฟื้นตัวได้ดีทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะเมืองรองที่อยู่ใกล้กับชายแดน สปป.ลาว และริมแม่น้ำโขง จากการท่องเที่ยวสายมู พญานาค ที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในจังหวัดริมแม่น้ำโขง จึงทำให้มีการฟื้นตัวได้ดีกว่าจังหวัดเมืองหลัก
อย่างไรก็ดีหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดการเติบโตของอีสาน คือ การถดถอยของเศรษฐกิจเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว เช่นกัน ซึ่งส่งผลให้การบริโภคสินค้าและบริการจากอีสานลดน้อยลง
อีสานยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านโครงสร้างของตลาดแรงงานที่กำลังแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงต่อเนื่อง และปรับตัวลดลง ในขณะที่ผู้สูงอายุยังปรับตัวเพิ่มขึ้น สร้างความท้าทายต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน
อีกทั้งยังพบว่าอีสานกำลังเผชิญกับสถานการณ์หนี้สินที่กลับมาท่วม GDP อีกครั้ง หลังจากครั้งล่าสุดตั้งแต่วิกฤติปี 2540 ซึ่งสะท้อนได้จากภาคการเงินที่น่าเป็นห่วง เพราะเพื่อชะลอปัญหาหนี้ท่วม ธนาคารจึงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อใหม่ ทำให้การหมุนเวียนของเงินในระบบต่ำลง
ทั้งนี้ประเด็นที่น่าจับตามอง คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของลาวที่มีผลโดยตรงกับภาคอีสาน พบว่าขณะนี้แรงงานลาวข้ามฝั่งเข้ามาทำงานในภาคอีสานของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อหางานที่มีรายได้สูงกว่า สถานการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเศรษฐกิจของลาวที่ยังไม่สามารถฟิ้นตัวได้เท่าก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19
โดยการที่ไทยรับแรงงานลาวเข้ามาทำงานในภาคส่วนงานที่คนไทยไม่นิยมทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผลิตและจำหน่ายอาหาร งานบริการ งานบ้าน และการเกษตรนั้น อาจเป็ยนการช่วยลดต้นทุนการผลิตและบริการ ทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันในตลาดได้ดีขึ้น และเติมเต็มช่องว่างในตลาดแรงงานไทยที่ไม่อยากทำงานในบางประเภทได้.
ที่มา : ธปท., อีสานอินไซต์ ม.ขอนแก่น
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney