ภาคการผลิตอาการโคม่า กกร.ห่วงโรงงานปิดตัวครึ่งปี 667 แห่ง!

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ภาคการผลิตอาการโคม่า กกร.ห่วงโรงงานปิดตัวครึ่งปี 667 แห่ง!

Date Time: 8 ส.ค. 2567 07:01 น.

Summary

  • กกร.ห่วงภาคการผลิตหดตัว ชี้สถิติปิดโรงงานทะลุ 100 กว่าแห่งต่อเดือน กังวลหนี้ครัวเรือนพุ่งแนะรัฐลงทุนเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ส่วนเงินเฟ้อเดือน ก.ค.พุ่งติดต่อเป็นเดือนที่สี่

Latest

ที่ยืนของ “ธุรกิจไทย” แคบลงทุกที ไทยขาดดุล “จีน” สูงขึ้นเรื่อยๆ นำเข้าสินค้า ผ่าน Shopee - Lazada

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.แสดงความห่วงใยต่อภาคการผลิตที่หดตัว เนื่องจากข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พบว่า มีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรก 667 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 86.31% เฉลี่ย 111 แห่งต่อเดือน มูลค่าการลงทุนต่อโรงงานที่ปิดตัวลดลงเฉลี่ยเหลือ 27.12 ล้านบาทต่อโรงงาน สะท้อนถึงการปิดตัวของโรงงานขนาดเล็กในอัตราที่เพิ่มขึ้นเศรษฐกิจไทยมีการลงทุนน้อย สัดส่วนการลงทุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ต่ำกว่า 25% ลดลงจากที่เคยสูงเกือบ 30% ในขณะที่การออมเงินสูงจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและมีเงินทุนไหลออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ทำให้เสียโอกาสในการนำเงินมาลงทุนปรับโครงสร้างการผลิตและยกระดับประสิทธิภาพการผลิตในประเทศ

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังคงน่ากังวล ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ที่รายงานโดยเครดิตบูโรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดในเดือนพฤษภาคมสูงถึง 1.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11% สะท้อนภาพการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง

กกร.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังคงเปราะบางและคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 2.2-2.7% การส่งออกขยายตัว 0.8-1.5% และเงินเฟ้อขยายตัว 0.5-1.0% พร้อมทั้งเตรียมข้อเสนอเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม เช่น การส่งเสริมสินค้าภายในประเทศ (Made in Thailand) สนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมผู้ประกอบการรายเล็ก บริหารจัดการขยะอุตสาหกรรม และพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0

ที่ประชุม กกร.เห็นตรงกับภาครัฐว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเสนอให้ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนทางภาษีอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการลงทุนในเมืองรองและอีกหลายมาตรการ

ทางด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ก.ค.2567 เพิ่มขึ้น 0.83% จากเดือนกรกฎาคม 2566 และขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาสินค้ากลุ่มอาหารสูงขึ้น รวมเงินเฟ้อ 7 เดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้น 0.11% คาดการณ์เงินเฟ้อเดือน ส.ค.จะใกล้เคียงกัน

โดยปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลง ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนที่ลดลง ราคาสุกรและผักสดที่มีแนวโน้มลดลง และฐานราคาน้ำมันดิบดูไบที่สูงในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่สูงขึ้น ราคาสินค้าและบริการในหมวดท่องเที่ยว และราคาผลไม้ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง โดยกระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 ขยายตัว 0.0-1.0% ค่ากลาง 0.5% ไม่มีการเปลี่ยนแปลง.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ