ไทยเผชิญ ภาวะ Under Investment การลงทุนรวมต่ำเกินไป ตามหลัง เวียดนาม-อินโดนีเซีย ฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ!

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยเผชิญ ภาวะ Under Investment การลงทุนรวมต่ำเกินไป ตามหลัง เวียดนาม-อินโดนีเซีย ฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ!

Date Time: 5 ส.ค. 2567 10:48 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • ไทยเผชิญ ภาวะ Under Investment การลงทุนรวมคงระดับต่ำเกินไป เพียง 25% ต่อจีดีพี ตามหลัง เวียดนาม-อินโดนีเซีย งบรัฐส่วนใหญ่ยังเน้นใช้ไปกับการทุ่มซ่อม-สร้างถนน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มแผ่วลง กับดักฉุดทิศทางเศรษฐกิจ จากขยายตัวปีละ 3-4% อาจลดลงเหลือไม่ถึง 2-3% ต่อปีเท่านั้น

Latest


มีคำกล่าวและข้อกังวลมากมายว่า ขณะนี้ “ประเทศไทย” กำลังถอยหลังเข้าคลอง บ้างบอกว่า ไทยเป็นสังคมจมปลัก เศรษฐกิจเคยเติบโตเกิน 5% ต่อปี แต่ในระยะข้างหน้า ศักยภาพของ “เศรษฐกิจไทย” มีแนวโน้มจะเติบโตได้ต่ำกว่า 2% จาก 3 ปัจจัยหลักด้วยกัน ได้แก่

  • ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ภายใต้ภาวะการแข่งขันจากต่างประเทศที่เข้มข้นขึ้น 
  • กำลังแรงงานที่ทั้งลดลงและแก่ตัวลง
  • ขาดการลงทุนที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิต

เมื่อไทยกำลังอยู่ในภาวะ “Under Investment” การลงทุนต่ำเกินไป 

ซึ่งหากย้อนไปในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดเฉลี่ยถึงปีละ 7-8% จากอานิสงส์การลงทุนที่มาจากต่างประเทศ รวมไปถึงการลงทุนด้านการวางโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานของประเทศ 

หากแต่ปัจจุบัน แรงขับเคลื่อนดังกล่าวกลับแผ่วลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวชะลอลงหลังผ่านพ้นวิกฤติมาหลายระลอก จนทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจ (Potential GDP) ในระยะยาว จากที่เคยโตได้ในระดับ 3-4% ก่อนสถานการณ์โควิด-19 อาจลดลงเหลือไม่ถึง 2% ต่อปีเท่านั้น 

ทั้งนี้ ttb analytics ได้วิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยฉุดรั้งของเศรษฐกิจไทย อาจมาจากที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะ “Under Investment” หรือการลงทุนรวมของไทยอยู่ในระดับต่ำเกินไป 

โดยที่ผ่านมา การลงทุนรวมของไทยลดลงอย่างรวดเร็ว สวนทางกับการบริโภคภาคเอกชนที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งการบริโภค หรือการลงทุนภาคเอกชน สามารถรักษาระดับการเติบโตได้ดีมาตลอดเฉลี่ย 3.1% เทียบกับการลงทุนรวมที่ขยายตัวเพียง 0.7% (CAGR ปี 2540-2566) 

ซึ่งสัดส่วนการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจาก 52% ต่อจีดีพีในปี 2550 เป็น 60% ของจีดีพีในปี 2566 และทำให้ขนาดของมูลค่าการบริโภคภาคเอกชนในปัจจุบันใหญ่กว่าการลงทุนรวม (ภาครัฐและภาคเอกชน) ถึง 2.4 เท่า จึงเรียกได้ว่า เศรษฐกิจไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เติบโตได้จากแรงขับเคลื่อนของการบริโภคภาคเอกชนอย่างแท้จริง

การลงทุนเหลือเพียง 25% ต่อจีดีพี ตามหลัง เวียดนาม อินโดนีเซีย 

เจาะมูลค่าการลงทุนรวมของไทยในปี 2566 อยู่ที่ 2.64 ล้านล้านบาท ซึ่งยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2539 (อยู่ที่ 2.75 ล้านล้านบาท) โดยสัดส่วนการลงทุนรวมของไทยลดลงอย่างรวดเร็วหลังผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งจาก 51% ต่อจีดีพีในปี 2539 เหลือเพียง 25% ของจีดีพี


ในปี 2541 และทรงตัวที่ระดับนี้มาจนปัจจุบัน ทำให้การลงทุนของไทยค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันอย่างประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่อยู่ที่ 33% และ 30% ต่อจีดีพี

ซึ่งหากพิจารณามูลค่าการลงทุนของไทยเป็น 2 มิติ รัฐกับเอกชนนั้น เจาะในมิติการลงทุนภาครัฐ โดยงบประมาณรายจ่ายของรัฐที่จัดสรรเพื่อการลงทุนคิดเป็นเพียง 1 ใน 4 ของงบประมาณที่จัดสรรในแต่ละปี 

ttb analytics ระบุว่า แม้วงเงินงบประมาณแต่ละปีจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.6% (CAGR ปีงบประมาณ 2549-2567) แต่เมื่อมองย้อนกลับมาที่งบรายจ่ายประจำ (เช่น ค่าจ้าง เงินเดือน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เงินชำระหนี้ ฯลฯ) ที่ขยายตัวสูงถึง 5.1% แต่งบรายจ่ายเพื่อการลงทุนกลับขยายตัวได้เพียงปีละ 3.0%

ยิ่งกว่านั้น ก้อนของเม็ดเงินลงทุนภาครัฐส่วนใหญ่ใช้เพื่อการซ่อมสร้างด้านสาธารณูปโภคและถนน โดยพบว่า 77% ของงบลงทุนทั้งหมดในปีงบประมาณ 2566 เป็นงบเพื่อการซ่อมสร้างถนนทางหลวงและทางหลวงชนบท การรถไฟ รวมถึงโครงการชลประทาน ซึ่งด้วยข้อจำกัดของขนาดงบลงทุน ทำให้ภาครัฐมักใช้งบบูรณาการผ่านโครงการการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (PPP) หรือการจัดสรรงบประมาณให้กับส่วนราชการเข้าไปลงทุนร่วมกับเอกชน เพื่อผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในระยะหลัง

เศรษฐกิจไทย แนวโน้มเติบโตไม่สมดุล ภาคเอกชน เริ่มอ่อนแอ 

อีกส่วนหนึ่ง มิติการลงทุนภาคเอกชน โดยการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยเติบโตได้เฉลี่ย 6.2% ในช่วงปี 2547-2555 เหลือเพียง 1% ในช่วงปี 2556-2566 ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่บางส่วนก็หันไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้น 

ทำให้เม็ดเงินการลงทุนโดยตรงสุทธิที่ออกไปนอกประเทศ (TDI Netflow) ในแต่ละปีสูงถึง 3-6 แสนล้านบาท ในทางกลับกัน เม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) ก็มีทิศทางลดลงต่อเนื่อง และต่ำกว่าคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่การลงทุน FDI ในอุตสาหกรรมหลักดั้งเดิมอย่างปิโตรเลียมและภาคผลิตก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในระยะหลัง

โดยสรุป ปัญหา Under Investment จะทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะเติบโตไม่สมดุล การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนนับวันจะมีข้อจำกัดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่รุนแรงขึ้นในหลายมิติ 

ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น จำนวนแรงงานลดลง ปัญหาหนี้ครัวเรือนเรื้อรัง จึงทำให้แรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะผลักดันโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยได้ในระยะยาว 

ซึ่งก็จะวนกลับมาที่ศักยภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพของประเทศไทยที่นับวันจะดูอ่อนแอลง ฉะนั้นแล้ว การให้ความสำคัญของการเร่งปฏิรูปและการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และดึงห่วงโซ่การผลิตจากต่างประเทศ จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้แข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว.

ที่มา : ttb analytics 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ