ปั๊มชีพจร “อุตสาหกรรมเหล็กไทย” ฝ่า “วิกฤติทุ่มตลาด” ปกป้องฐานการผลิต ก่อนล้มทั้งยืน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ปั๊มชีพจร “อุตสาหกรรมเหล็กไทย” ฝ่า “วิกฤติทุ่มตลาด” ปกป้องฐานการผลิต ก่อนล้มทั้งยืน

Date Time: 5 ส.ค. 2567 05:38 น.

Summary

  • “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นายนาวา จันทนสุรคน” ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์เหล็กไทยในขณะนี้ ท่ามกลางพายุไต้ฝุ่นที่ถูกส่งมาถล่มจากแดนมังกร รวมทั้งร่วมกันหาหนทางรอดของอุตสาหกรรมเหล็กไทยในระยะต่อไป

Latest

ภารกิจผู้ว่าฯ รฟท.คนใหม่ แก้หนี้ 2.3 แสนล้าน สร้างรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง

เข้าสู่ครึ่งแรกของไตรมาสที่ 3 ในปี 67 ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆจากแรงส่งของภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นหลังสามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ตามปกติ รวมทั้งความหวังที่ว่าการส่งออกไทยจะทยอยปรับตัวดีขึ้นได้ในครึ่งปีหลัง

แต่การส่งออกจะดีขึ้นได้มากน้อยเพียงใด ฟื้นจริงหรือไม่ ขึ้นกับ “ภาคการผลิต” ของไทยเป็นสำคัญ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมไทยที่หนองที่กลัดมายาวนาน กำลังแตกปะทุ ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมของไทยหลุดจาก “ห่วงโซ่การผลิตโลก” และทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยติดลบต่อเนื่องมายาวนาน และส่งผลต่อรายได้ของแรงงานในภาคการผลิตที่ฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่น

ยิ่งไปกว่านั้น ผลจากเศรษฐกิจที่ซบเซารุนแรงในช่วงโควิด-19 และมาตรการกีดกันทางการค้าจากทั่วโลกที่มุ่งไปยัง “จีน” ทำให้จีนต้องตัดสินใจใช้ “วิธีเอาตัวรอด” ด้วยการส่งสินค้าราคาถูกออกไปทุ่มตลาดผู้ค้ารายอื่นในตลาดโลก สร้างผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย

“ตลาดเหล็ก” และ “อุตสาหกรรมเหล็ก” ของไทย ก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ “จีน” ใช้วิธีการทุ่มตลาดมายาวนานหลายปี และนับวันการทุ่มตลาด และการใช้กลวิธีในการหลีกเลี่ยงต่างๆยิ่งรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบให้ “อุตสาหกรรมเหล็กไทย” ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และเป็นฐานที่เคยมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศไทยเริ่ม “สั่นคลอน” และกำลังต้องการการปกป้องที่เพิ่มขึ้นจากรัฐบาล จากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้นกว่าช่วงก่อน เพื่อให้มีโอกาสกลับขึ้นมาเป็น “ขุนพลหลัก” ของเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นายนาวา จันทนสุรคน” ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์เหล็กไทยในขณะนี้ ท่ามกลางพายุไต้ฝุ่นที่ถูกส่งมาถล่มจากแดนมังกร รวมทั้งร่วมกันหาหนทางรอดของอุตสาหกรรมเหล็กไทยในระยะต่อไป

ไทยกระทบหนักจีนทุ่มตลาดเหล็ก

อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า อุตสาหกรรมของไทยหลายภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเคยเป็น “พระเอก” ของการส่งออกสินค้าไทย กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก “อุตสาหกรรมเหล็กไทย” ก็เช่นกัน ทำให้เริ่มต้นการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ นายนาวาได้เล่าให้ “ทีมเศรษฐกิจ” ฟังถึงปัญหาหนักหน่วงที่กำลังถาโถมในวันนี้

“อุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย กำลังเผชิญปัญหาใหญ่คุกคามใน 4 ด้านพร้อมกัน” ซึ่งก็คือ ด้านที่

1.จากภาวะตลาดและความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยที่หดตัวลง จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จากที่เคยมีความต้องการใช้เหล็กปีละ 20 ล้านตันเหลือเพียงปีละ 16 ล้านตันเศษ

2. ผลจากประเทศที่จีนทุ่มส่งออกสินค้าเหล็กไปทั่วโลกปริมาณสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนประสบปัญหาจนความต้องการใช้เหล็กภายในจีนถดถอย แต่ผู้ผลิตเหล็กในจีนยังคงผลิตเหล็กออกมาจำนวนมาก ทำให้จีนเลือกที่จะส่งออกสินค้าเหล็กมากขึ้น โดยปีที่แล้วจีนส่งออกสินค้าเหล็กรวม 90.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 42% จากปี 2565 และครึ่งแรกของปี 2567 นี้ จีนส่งออกเหล็กเพิ่มเป็น 53.4 ล้านตัน มากขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24% ซึ่งหากยังคงการส่งออกในอัตรานี้ตลอดทั้งปี สินค้าเหล็กส่งออกจากจีนจะมีปริมาณสูงสุดในรอบ 9 ปี เกือบ 107 ล้านตัน และใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งจีนส่งออกสินค้าเหล็กมากสุดเป็นประวัติการณ์ 110 ล้านตัน

ทำให้ในขณะนี้ทั้งสหรัฐอเมริกา และยุโรปต่างใช้มาตรการป้องกันสินค้าเหล็กจากจีนอย่างจริงจัง สินค้าเหล็กส่งออกจากจีนราว 60 ล้านตัน ต่อปี มุ่งทุ่มมาที่ภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

3.นอกจากนั้น นอกเหนือจากการส่งออกเหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็กโดยตรงแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การเดินหน้าส่งออกเหล็กทางอ้อม (Indirect Steel Export) จากจีน ในลักษณะการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปต่างๆ ซึ่งมีเหล็กเป็นองค์ประกอบไปทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่าเหล็กที่อยู่ในสินค้าสำเร็จรูปซึ่งจีนส่งออกมีปริมาณมากถึง 127 ล้านตันในปี 2567 นี้ ได้แก่ เครื่องจักรกลจีนเป็นเหล็ก 43 ล้านตัน โครงสร้างอาคารสำเร็จรูปเป็นเหล็ก 12 ล้านตัน รถยนต์จีนเป็นเหล็ก 10 ล้านตัน และเครื่องใช้ไฟฟ้าจีนเป็นเหล็ก 9 ล้านตัน เป็นต้น

ท้ายที่สุดปัญหาด้านที่ 4 ที่ประเทศไทยต้องเผชิญเพิ่มเติมคือ สถานการณ์ที่ประเทศคู่แข่งที่เข้ามาตั้งโรงงานเหล็กในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานเหล็กจากจีน ซึ่งย้ายเครื่องจักร
จากประเทศจีนมาเปิดเพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าเหล็กซึ่งซ้ำกับโรงงานเดิมในไทย ซึ่งมีกำลังการผลิตเหลือเกินความต้องการใช้อยู่แล้ว เช่น เหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อย เหล็กลวด เหล็กแผ่นรีดร้อน เป็นต้น

ทั่วโลกแห่ใช้มาตรการตอบโต้ “เหล็กจีน”

และจากกระแสการแข่งขันที่รุนแรงของสินค้าเหล็กทุ่มตลาดนี่เอง ทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆไม่สามารถปล่อยเรื่องนี้ไว้ได้ จึงเร่งใช้มาตรการทางการค้าเพื่อป้องกันเหล็กต่างชาติมาทำลายอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ

ทั้งนี้ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้มาตรการทางการค้าเป็นเครื่องมือป้องกันตนเองในยามจำเป็นได้หลากหลายมาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) 2.มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) 3.มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention : AC) และ 4.มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard : SG)

และภายใต้สถานการณ์ที่มองว่าจะเป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมในประเทศอย่างร้ายแรง ในขณะนี้ประเทศชั้นนำที่เน้นการค้าเสรี อย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ได้นำมาใช้ครบแล้ว ทั้งมาตรการ AD มาตรการ AC มาตรการ CVD และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (SG)

โดยล่าสุดทั้งอเมริกาและยุโรปต่างเก็บอากรนำเข้าสินค้าเหล็กจีนเพิ่มเป็น 25% ด้วย ในขณะที่ประเทศในอาเซียนทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และภูมิภาคต่างๆ ก็ใช้มาตรการทางการค้าอย่างจริงจังและรวดเร็วเพื่อสกัดกั้นสินค้าจากจีน และปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ

โดยปัจจุบัน ทั่วโลกมีการใช้มาตรการ AD รวม 1,985 มาตรการ อยู่ระหว่างการไต่สวนเพิ่มอีก 205 มาตรการ โดยประเทศที่ถูกใช้มาตรการ AD มากที่สุด อันดับ 1 จีน 653 มาตรการ รองลงมาเป็น เกาหลีใต้ 135 มาตรการ ตามมาด้วย อินเดีย 102 มาตรการ และไต้หวัน 95 มาตรการ นอกจากนั้น ทั่วโลกยังมีการใช้มาตรการ CVD รวม 294 มาตรการ และอยู่ระหว่างการไต่สวนเพิ่มอีก 25 มาตรการ โดยประเทศที่ถูกใช้มาตรการ CVD มากที่สุดอันดับ 1 ยังคงเป็นจีน 146 มาตรการ รองลงมา อินเดีย 43 มาตรการ ตามมาด้วย ตุรกี 17 มาตรการ และเวียดนาม 12 มาตรการ

สำหรับประเทศไทยใช้เพียงมาตรการ AD เท่านั้น ตาม พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศและยังไม่เคยใช้มาตรการ CVD เลย แม้กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับมาแล้ว 25 ปี ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจจะทำให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยอยู่ในสถานะยากลำบาก

“การใช้มาตรการ AD อย่างเดียวไม่เพียงพอปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กไทย จนปัจจุบันสินค้าเหล็กนำเข้ามีส่วนแบ่งตลาดในประเทศมากเกือบ 70% ปริมาณกว่า 11 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ผู้ผลิตเหล็กในไทยผลิตเหล็กเพียงปีละ 5 ล้านตัน และใช้กำลังการผลิตน้อยกว่า 30% ของกำลังการผลิตเหล็กที่มีทั้งหมด”

เชียร์รัฐสู้เพิ่ม “ความเข้ม” มาตรการ

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กสนับสนุนการบังคับใช้มาตรการทางการค้าของภาครัฐ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุการทุ่มตลาดเหล็กและเลี่ยงอากรของจีนมายาวนาน และที่ผ่านมาสร้างความเสียหายกับอุตสาหกรรมเหล็กไทยอย่างรุนแรง และกำลังกระทบต่อเนื่องไปยังการจ้างงานและเศรษฐกิจประเทศ

นายนาวาได้กล่าวสนับสนุนกระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ซึ่งได้พิจารณาข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน เป็นธรรม และตัดสินใจใช้มาตรการเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการ AD ที่ได้ทำไปแล้ว

โดยได้ออกมาตรการเพิ่มเติม ประกาศใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้ผู้ผลิตเหล็กจากประเทศจีน ซึ่งหลบเลี่ยงอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) โดยใช้เล่ห์กลเปลี่ยนการเจือสารอัลลอยต่างๆในเหล็กแผ่นรีดร้อนปกติ เป็นเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอน เป็นเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโครเมียม และเป็นเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือไททาเนียม มาโดยตลอดเพื่อไม่ต้องจ่ายอากรตอบโต้การทุ่มตลาด

“ภายในเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ปริมาณนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยได้เพิ่มจากเดือนละ 3,000 ตัน เป็นเดือนละ 90,000-140,000 ตัน ซึ่งหากสะสมรวมกันในตลอดเวลาที่ผ่านมา ไทยเราสูญเสียรายได้จากอากรตอบโต้ทุ่มตลาดที่ถูกหลบเลี่ยงหลายหมื่นล้านบาทและหากปล่อยให้สินค้าเหล็กจีนดังกล่าว ยังทะลักเข้ามายังประเทศไทย อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศไทยอาจต้องปิดตัวลง กระทบการจ้างงานทั้งทางตรงและต่อเนื่อง อีกทั้งเสียการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศมูลค่ามหาศาล”

เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว ยังมีสินค้าเหล็กอีกหลายผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมเหล็กไทย ที่เผชิญการทุ่มตลาดจากสินค้าเหล็กต่างชาติ ได้แก่ ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นรีดเย็นชุบสังกะสีแบบจุ่มร้อน เหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจืออะลูมิเนียมสังกะสี เหล็กแผ่นเคลือบสี เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการพิจารณาใช้มาตรการทางการค้าภายในเวลาที่ทันการ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการตอบโต้การอุดหนุน มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (SG) หรือแม้กระทั่งมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD)

หวั่น “ฟางเส้นสุดท้าย” เหล็กไทยถึงจุดจบ

นายนาวาย้ำว่า “อุตสาหกรรมเหล็กมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของชาติ และเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานที่ต้องมั่นคงของอุตสาหกรรมประเทศไทย แต่ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าสุทธิสินค้าเหล็ก (ปริมาณนำเข้า-ปริมาณส่งออก) สูงถึง 12 ล้านตันต่อปี มากสุดเป็นลำดับ 4 ของโลก รองจากอเมริกา อียิปต์ และเม็กซิโก โดยเงินตราของประเทศไทยไหลออก เนื่องจากการนำเข้าเหล็กเป็นมูลค่าราว 6 แสนล้านบาทต่อปี”

ในขณะนี้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติจนหลายโรงงานต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน เนื่องจากสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับการทุ่มตลาดและการค้าเหล็กที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมาก เพราะในอดีต ประเทศไทยเคยเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในอาเซียน ทั้งเป็นตลาดสินค้าเหล็กที่ใหญ่สุดในอาเซียน และเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเหล็กมากสุดในอาเซียน

แต่ด้วยปัญหาเชิงโครงสร้าง และผลจากหลายประเทศเพื่อนบ้านที่ปกป้องและพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศตนเอง ทำให้ขณะนี้ปริมาณการผลิตเหล็กต่อปีของเพื่อนบ้านได้แซงล้ำหน้าไปแล้ว โดยเวียดนามมีกำลังการผลิต 19.2 ล้านตันต่อปี อินโดนีเซีย 16.8 ล้านตันต่อปี มาเลเซีย 7.5 ล้านตันต่อปี ขณะที่กำลังการผลิตของไทย 5.0 ล้านตันต่อปี เราจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างเกราะปกป้อง และเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้กลับมายืนอยู่ได้

นายนาวาย้ำด้วยว่า “กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กยังพร้อมเดินหน้าตามนโยบายของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้การนำของคุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่ออนาคตของประเทศไทยที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น”

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก พร้อมปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเติบโตแบบยั่งยืนใน 3 มิติ คือ 1.การสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ (Raw Material Security) รองรับการบริโภคเหล็ก และอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศไทยราว 16-20 ล้านตันต่อปี

2.ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็ก (Industry Restructuring) ให้มีความสมดุล โดยเน้นเพิ่มกำลังการผลิตในสินค้าเหล็กที่ยังต้องพึ่งพิงการนำเข้า และปรับหรือลดกำลังการผลิตในบางประเภทสินค้าเหล็กที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องการภายในประเทศ หรือหาตลาดส่งออกในประเทศพันธมิตรต่างๆมากขึ้น และ

3.พัฒนากระบวนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเหล็ก โดยมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดปัญหาโลกร้อน

และหากภาครัฐและเอกชนร่วมมือผนึกกำลังกัน ทั้งการใช้มาตรการการค้าในรูปแบบต่างๆเพิ่มเติม และการเร่งยกระดับโครงสร้างของผู้ประกอบการไทย ก็มีโอกาสที่อุตสาหกรรมเหล็กไทย จะกลับมาเป็นหลัก สร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุตสาหกรรมของประเทศ และเพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ