ความจริง VS จินตนาการกับ “ตำนานจำนำข้าว”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ความจริง VS จินตนาการกับ “ตำนานจำนำข้าว”

Date Time: 30 ก.ค. 2567 05:38 น.

Latest

ภารกิจผู้ว่าฯ รฟท.คนใหม่ แก้หนี้ 2.3 แสนล้าน สร้างรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง

มหากาพย์ “จำนำข้าว” น่าจะถือได้ว่าจบลงแล้ว!!

หลังจากวันที่ 19 ก.ค.67 “องค์การคลังสินค้า” (อคส.) ประกาศผลประมูลซื้อข้าวสารสต๊อกรัฐลอตสุดท้าย ซึ่งเป็นข้าวสารหอมมะลิ 100% ชั้น 2 เกือบ 15,000 ตัน จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ในคลังกิตติชัย หลัง 2 และคลังพูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 จ.สุรินทร์ หรือที่รู้จักในนาม “ข้าว 10 ปี”

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ชนะประมูลได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวกับอคส.แล้ว รอเพียงขนข้าวออกจากโกดังให้หมดภายใน 30 วัน

ส่วนเงินค่าข้าว กระทรวงพาณิชย์จะนำส่งเข้าคลังต่อไป

แต่กว่าจะประกาศผลได้ ใช้เวลานานกว่า 1 เดือน นับจากวันยื่นซองเสนอราคาซื้อวันที่ 17 มิ.ย.67 เพราะมีข้อสงสัยในตัว

ผู้ยื่นซองเสนอราคาสูงสุดกิโลกรัม (กก.) ละ 19.07 บาท คือ “บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด”

ส่งผลให้ “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ สั่งการให้ อคส.ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นซองทั้ง 6 รายอีกครั้ง เพื่อให้สิ้นสงสัย จนพบว่าผู้ซื้อ 3 ใน 6 ราย ซึ่งรวมถึงบริษัท วีเอท นั้น

ขาดคุณสมบัติ และหมดสิทธิ์ประมูลข้าวลอตนี้ เพราะเป็นผู้ทำให้ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ทำให้ อคส.เสียหาย หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความค้างเก่ากับ อคส.!!

ทำให้ต้องเจรจาต่อรองราคากับ 3 รายที่เหลือ และได้ผู้ชนะ 2 ราย คือ 1.บริษัท สหธัญ จำกัด ได้ข้าวคลังพูนผลเทรดดิ้ง กก.ละ 18.71 บาท รวม 62.800 ล้านบาท จากที่เสนอเดิม กก.ละ 18.69 บาท รวม 62.734 ล้านบาท และ 2.บริษัท ทรัพย์แสงทองไรซ์ จำกัด ได้ข้าวคลังกิตติชัย กก.ละ 18 บาท รวม 209.819 ล้านบาท จากที่เสนอเดิม กก.ละ 15.62 บาท รวม 182.040 ล้านบาท รวมมูลค่าขายที่จะนำเงินส่งเข้าคลัง 272.619 ล้านบาท

ราคาที่เคาะขายครั้งนี้ แม้ไม่สูงเท่าราคาที่เสนอซื้อสูงสุด 19.07 บาท แต่เป็นราคาที่สูงมากอย่างน่าพอใจสำหรับข้าวสารที่เก็บมาแล้วกว่า 10 ปี

จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดการขายข้าวสารสต๊อกรัฐก่อนหน้านี้ หรือในช่วงปี 57–65 ในบางโกดัง บางคลัง ขายได้ราคาต่ำกว่าข้าว 10 ปีมาก ทั้งๆที่ยังเก็บไม่ถึง 10 ปีด้วยซ้ำ

มิหนำซ้ำ คำถามที่ถามบ่อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ถูกหยิบขึ้นมาถามใหม่ว่า เหตุใดข้าวสารสต๊อกรัฐที่เคยเป็นข้าวคุณภาพดี กลับถูกจัดเกรดเป็นข้าวเสีย ข้าวเสื่อมคุณภาพ (เกรด C) ในรัฐบาล “คสช.”

และประมูลเข้าสู่อุตสาหกรรม ทั้งที่ไม่ใช่การบริโภคของคน เช่น อาหารสัตว์ ฯลฯ และไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ เช่น ปุ๋ย แอลกอฮอล์ ฯลฯ ซึ่งได้ราคาต่ำมากๆ ไม่ได้ประมูลเป็นการทั่วไปสำหรับการบริโภคของคน ที่จะได้ราคาสูงกว่า

ทั้งๆที่คนในวงการข้าว พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้าวดี ที่ถูกจัดเป็นเกรด C ในบางคลัง ปรับปรุงใหม่ให้คนบริโภคได้ และไม่เป็นอันตราย!!

“นายภูมิธรรม” โพสต์ FB Phumtham Wechayachai เมื่อวันที่ 20 ก.ค.67 ว่า “...จาก “ความจริง” ของมูลค่าข้าวลอตสุดท้าย ในโครงการรับจำนำข้าว ที่ปรากฏในวันนี้ ทำให้ผมอดจินตนาการย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน แล้วตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมราคาประมูลขายข้าวในครั้งนั้นถึงต่ำ ไม่ถึง 10 บาท/กก. ด้วยข้ออ้างว่าเป็นข้าวเน่า ที่ไร้การตรวจพิสูจน์...”

อย่างไรก็ตาม หากเทียบราคาที่ขายครั้งนี้กับราคาที่ขายช่วงปี 57-65 ข้อมูล อคส.พบว่าข้าวสารหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ที่เก็บมาเกิน 10 ปี ขายเป็นการทั่วไปปี 67 ขายได้ กก.ละ 18 บาท และ 18.71 บาท

ส่วนข้าวชนิดเดียวกัน ที่ขายทั่วไปช่วงก่อนหน้า ซึ่งควรได้ราคาดีกว่า เพราะอายุการเก็บน้อยกว่า คุณภาพดีกว่า กลับขายได้ต่ำกว่า อย่างปี 65 ขาย กก.ละ 12.52–13.26 บาท, ปี 63 กก.ละ 12.66–15.00 บาท, ปี 62 กก.ละ 11.52–17.00 บาท, ปี 61 กก.ละ 6–22 บาท, ปี 60 กก.ละ 8.85–14.32 บาท
เพิ่งมาปี 59 ที่ขายได้ กก.ละ 18.35 บาท ใกล้เคียงปี 67 ทั้งที่อายุการเก็บน้อยกว่ามาก ส่วนปี 57-58 ขายได้ราคาดีมากๆ กก.ละ 22.86-30.38 บาท เพราะเป็นข้าวใหม่ เพิ่งเก็บเข้าโกดังได้เพียง 2-3 ปี

ขณะที่ข้าวสารหอมมะลิ เกรด C มีการประมูลสู่อุตสาหกรรม ที่ไม่ใช่การบริโภคของคนหลายครั้งในปี 58-61 ได้ กก.ละ 3.60-7.10 บาท และไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ กก.ละ 2.89 บาทเท่านั้น

ส่วนข้าวอื่นราคาต่ำมาก แม้เทียบราคาขายของข้าวชนิดเดียวกัน ที่ขายต่างปีกัน ราคาก็ยังต่างกัน เช่น อุตสาหกรรมไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ข้าวขาว 5% ปี 65 กก.ละ 8.20-10.23 บาท, ปี 63 กก.ละ 6.00-9.43 บาท, ปี 62 กก.ละ 6.48 บาท, ปี 61 กก.ละ 2.20-8.94 บาท, ปี 60 กก.ละ 2.30-3.20 บาท ข้าวสต๊อกรัฐที่ขาย 46 ครั้งในปี 57–65 รวม 12.947 ล้านตัน ได้เงินคืนคลังแค่ 112,459 ล้านบาท!!

...ข้อความจาก FB “นายภูมิธรรม” โพสต์เดียวกันสรุปว่า “ในฐานะ รมว.พาณิชย์ ซึ่งกำกับดูแลเรื่องนี้

พยายามดำเนินการทุกขั้นตอนให้เกิดประโยชน์คืนสู่รัฐมากที่สุด...ถือเป็นการปิดตำนานจำนำข้าว ด้วย “ความจริง” ที่พิสูจน์จนสิ้นสงสัย มิใช่ “จินตนาการ” ที่ตั้งอยู่บน “อคติ” จนทำให้รัฐเสียประโยชน์มหาศาล”.

สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์

คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ