"ดิจิทัล วอลเล็ต" คือจุดเริ่มต้น แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โจทย์ท้าทาย "เศรษฐา ทวีสิน"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"ดิจิทัล วอลเล็ต" คือจุดเริ่มต้น แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โจทย์ท้าทาย "เศรษฐา ทวีสิน"

Date Time: 29 ก.ค. 2567 05:48 น.

Summary

  • ติดตามการวิเคราะห์โครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ที่จัดทำโดยคณะทำงานของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ตามที่ได้รวบรวมข้อมูลจากหลายหน่วยงานในกระทรวงต่างๆ ซึ่งเป็นโจทย์ที่นายกรัฐมนตรี จะนำไปสู่การค้นหาหนทางแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวอยู่นี้ให้ได้

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ในการแถลงข่าว “การเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วม “โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต” เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา “พิชัย ชุณหวชิร” รมว.คลัง ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่มีความจำเป็นต้องส่งเงินก้อนใหญ่เข้าช่วยประชาชนฐานรากและภาคธุรกิจขนาดเล็กที่กำลังยากลำบาก เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ

เขาตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย? ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำยาวนานมากกว่า 15 ปี ที่เห็นชัด คือ 10 ปีที่ผ่านมาตกต่ำค่อนข้างมาก รายได้ของประชาชนต่ำกว่ารายจ่าย จนหนี้ครัวเรือนกับเพิ่มขึ้นเกิน 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ขณะที่ภาคธุรกิจมีอาการไม่ต่างกัน ยอดการผลิตและยอดขายตกลง การแก้ปัญหาของรัฐบาลจึงต้องเพิ่มรายได้ ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีรายได้สูงขึ้น ผ่านการทำโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต

การดำเนินโครงการนี้จะทำให้ประเทศมีหนี้สาธารณะสูงขึ้น “พิชัย” บอกว่า รัฐบาล “กลัว” การสร้างหนี้ แต่ “กลัว” ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจมีปัญหามากกว่า ถ้ารัฐบาลไม่อยากให้มีหนี้เพิ่มก็อยู่เฉยๆ แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อสองเสาหลักของประเทศ คือ ประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจ มีปัญหา รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลอาสามาแก้ไขปัญหาแล้ว ก็ต้องเจอหนี้สาธารณะแน่นอน แต่เมื่อสร้างหนี้ขึ้นมาแล้ว มีปัญญาจ่าย ก็ถือว่าหนี้นั้นไม่เยอะ นั่นคือ ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตขึ้น

เขายกตัวอย่างหนี้สาธารณะในปัจจุบันที่ 60% ของจีดีพี และกำลังเดินเข้าสู่กรอบที่ตั้งไว้ คือไม่เกิน 70% ของจีดีพี เมื่อดูจากมูลค่าจีดีพีของประเทศที่ 20 ล้านล้านบาท สามารถก่อหนี้ได้ 14 ล้านล้านบาท ณ วันนี้อยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท จึง “เหลือกระสุนอีกไม่เยอะ”

นโยบายการเติมเงินสู่ระบบเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อแก้วิกฤติ และไม่ใช่โครงการเดียว ยังต้องมีอีกหลายโครงการที่ต้องทำคู่ขนาน

ส่วนคำอธิบายว่า “วิกฤติ” หรือ “ไม่วิกฤติ” เขาบอกว่า “ใครจะบอกว่าวันนี้ยังไม่มีวิกฤติ ต้องเกิดทันที ตื่นขึ้นมาแล้วตกใจ อันนี้ไม่ต้องตื่นละครับ เราเดินไปเดินมา เราเห็นอยู่ข้างหน้าแล้ว เป็นวิกฤติอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งคาดได้หากไม่ทำอะไร ผมจึงจะบอกว่าสิ่งนี้จำเป็นต้องแก้วิกฤติควบคู่กับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และสามารถผลิตสินค้าบริการ ที่ตอบสนองความต้องการของโลกใบนี้ได้”

โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เป็นโครงการที่หวังว่าจะมีผลในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

สำหรับปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ รมว.คลัง ได้ฉายภาพให้เห็นว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ช้าไปสักหน่อย ทำให้มีปัญหาเชิงโครงสร้าง คือ ปัญหาที่ทำให้ประเทศไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับชาวโลก ในเรื่องของการผลิตและการให้บริการ ยอดการส่งออกค่อยๆลดลง

เมื่อเปรียบเทียบ 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีช่วงโควิดอยู่ด้วย 2 ปี อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.9% ค่อนข้างต่ำสำหรับประเทศอย่างเรา และไตรมาสที่หนึ่งของปีนี้ขยายตัว 1.5% รวมทั้งได้รับการยืนยันจากผู้รู้ทางเศรษฐกิจอย่างดีว่าปีนี้น่าจะอยู่ที่ 2.4% คือ เติบโตแต่ไม่เพียงพอรายได้ เพราะติดปัญหาเรื่องทางโครงสร้าง

รัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญเรื่องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างคู่ขนานไปด้วย ยกตัวอย่างปัญหา เช่นอยากจะส่งออกสินค้าการเกษตรกรรม แต่ยังมีปัญหาแหล่งน้ำ ความพร้อมของการขนส่ง ถนน คุณภาพดิน พันธุ์พืช เรื่องการหาตลาด ซึ่งประเทศไทยแผ่วไป การแก้ปัญหาพวกนี้ต้องใช้เวลา

จากปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศตามที่ รมว.คลังได้กล่าวข้างต้น “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ขอเชิญชวนท่านผู้อ่าน มาติดตามการวิเคราะห์โครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ที่จัดทำโดยคณะทำงานของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ตามที่ได้รวบรวมข้อมูลจากหลายหน่วยงานในกระทรวงต่างๆ ซึ่งเป็นโจทย์ที่นายกรัฐมนตรี จะนำไปสู่การค้นหาหนทางแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวอยู่นี้ให้ได้

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ได้ถูกแยกแยะออกเป็น 5 เรื่อง คือ

1.โครงสร้างการผลิตสินค้าของไทยไม่ได้ปรับตัวไปตามดีมานด์ของโลก และไทยไม่ได้เอาเทคโนโลยีใหม่ๆของโลกเข้ามา

2.อุปสรรคทางการค้ามีมากขึ้น และมีปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ปัญหาระหว่างจีนกับอเมริกา แม้จะมีข้อดีทำให้อุตสาหกรรมจากจีนย้ายมาตั้งฐานในไทยเยอะมาก แต่ข้อเสียบางอย่าง เช่น ไทยที่เคยส่งยางพาราไปให้จีนผลิตยางรถยนต์ แต่ตอนนี้จีนไม่สามารถส่งออกยางรถยนต์ได้

3.ไทยพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน เมื่อพลังงานราคาขึ้นไทยก็เสียดุลการค้า น้ำมันไม่ว่าแพงเท่าไหร่ คนไทยก็ต้องใช้ทำให้การนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเพื่อการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องหาแนวทางเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ตลอดจนเร่งรัดการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในอ่าวไทยเพื่อให้ได้ก๊าซธรรมชาติที่ราคาถูกและมีปริมาณที่ใช้ไปได้อีก 25 ปี อีกปัญหาคือไทยไม่มีห่วงโซ่การผลิตของผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ ต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ ทำให้ไทยติดอยู่กับการผลิตขั้นกลาง สินค้าที่ผลิตออกมาจึงมีกำไรต่ำ

4.การลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนต่ำ

5.การเติบโตของการบริภาคภายในประเทศตกต่ำ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก (ยกเว้นภาคท่องเที่ยว)

เมื่อวิเคราะห์ต่อมาถึงภาคการส่งออกของไทย ที่น่ากังวลมากคือ ใน 2 ปีจากนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย คงหวังพึ่งพาการส่งออกไม่ได้

โดยพบว่า สินค้าในหลายอุตสาหกรรมส่งสัญญาณอ่อนแอ โดยเฉพาะสินค้าเคมีและปิโตรเคมี เครื่องจักร ชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อน 3 อันดับแรกของภาคการผลิตของไทย ขณะที่การส่งออกของสินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพารา น้ำตาล ลดลงอย่างชัดเจน

สามารถสรุปปัญหาของภาคส่งออกได้ คือ 1.ภาคธุรกิจขนาดใหญ่กำลังประสบปัญหาการเติบโตต่ำหรือติดลบ จำเป็นต้องได้รับการดำเนินการจากรัฐบาลทันที

2.การส่งออกของไทยในภาคส่วนสำคัญยังเติบโตต่ำกว่าการเติบโตของทั่วโลก สาเหตุหลักมาจากการส่งออกของไทยไม่ปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก

3.ปัญหาเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงและความสามารถในการส่งออกที่ลดลงของจีน เนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้การส่งออกในหลายภาคส่วนของไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุทานของจีนหดตัว อาทิ ปิโตรเคมี (พลาสติก) แผงวงจรพิมพ์ ไม้ยางพารา ฮาร์ดดิสก์

4.กำลังการผลิตส่วนเกินและความได้เปรียบด้านราคาของจีนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลัก เช่น เหล็กและเคมี กระทบกับการส่งออกของไทยลดลงอย่างมาก

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาที่วางไว้จะต้องได้รับความร่วมมือจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นหลักในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมเครื่องจักร ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และวงจร ที่มีปัญหา จะต้องเปลี่ยนไปสู่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูงกว่า และเร่งรัดการลงทุนจากบริษัทผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวัน

2.รถยนต์และชิ้นส่วน มีความต้องการเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาป เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) พร้อมกับต้องเจรจากับออสเตรเลียที่เริ่มลดการนำเข้ารถกระบะจากไทย พร้อมทั้งเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) กับตลาดใหม่ๆ และการเชื่อมห่วงโซ่อุปทานกับรถ EV ของจีน

3.ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ตลาดมีการแข่งขันสูง เมื่ออุปทานทั่วโลกเพิ่มขึ้น ไทยมีต้นทุนสูงทำให้เป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขัน และติดอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน แนวทางแก้ไขต้องสำรวจตลาดใหม่ๆ นอกห่วงโซ่อุปทานของจีน และสำรวจผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีมูลค่าสูง

4.เกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผลไม้ น้ำตาล ผลผลิตตกต่ำเนื่องจากภัยแล้ง มีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของทุเรียนที่ส่งออกไปจีนประเทศเดียว โดย 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าส่งออกเพิ่มจาก 32,000 ล้านบาท เป็น 200,000 ล้านบาท และอุปทานล้นโลกพร้อมมีแรงกดดันด้านราคา การแก้ไขปัญหาต้องปรับปรุงระบบชลประทาน การเปลี่ยนแปลงสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

5.ผลิตภัณฑ์เอสเอ็มอี เช่น กาแฟ ชา สิ่งทอ และจิวเวลรี มีความอิ่มตัวของตลาด มีการแข่งขันที่รุนแรง การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นผู้นำเข้า การต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของความยั่งยืนและการควบคุมคุณภาพ โดยแนวทางการแก้ปัญหาต้องยกระดับทักษะแรงงาน เพิ่มขีดความสามารถในการผลิต และส่งเสริมแบรนด์ไทยให้เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก

ปัญหาโครงการเศรษฐกิจไทย ประเด็นต่อมา คือ เรื่องของการลงทุนของประเทศ ตามที่เห็นนายกรัฐมนตรี สวมบท “เซลล์แมนประเทศ” บินไปดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก มีที่ตามมาลงทุนในไทยแล้วและกำลังจะตามมานับรวมมูลค่ากว่า 560,000 ล้านบาท เป็นอีกส่วนของการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว

เมื่อย้อนหลังไป 10 ปีที่ผ่านมา ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทยตามหลังมาเลเซียและเวียดนาม และมีฟิลิปปินส์ไล่ตามไทย ได้ส่งผลกระทบต่อจีดีพีและความน่าสนใจในการลงทุนของไทย

จึงมี 3 แนวทางที่จะกระตุ้นการลงทุน คือ 1.เพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศ โดยให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นหัวหอก ซึ่งต้องมีการทบทวนอุตสาหกรรมเป้าหมายและเพิ่มแรงจูงใจ เร่งเจรจาเอฟทีเอและพัฒนาทรัพยากรบุคคล

2.กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน โดยดำเนินโครงการที่จูงใจการลงทุนของภาคเอกชน มุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ต้นน้ำและปลายน้ำที่มีมูลค่าสูง เพื่อย้ายออกจากอุตสาหกรรมปลายน้ำ 3.เพิ่มการลงทุนภาครัฐ ด้วยการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนการศึกษา

นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาของภาคการบริโภค ที่ต้องจัดทำนโยบายขยายตัวการบริโภค และสนับสนุนการท่องเที่ยว แบ่งออกเป็น 1.การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ด้วยการบรรเทาหนี้ครัวเรือน ออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ โดย “โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต” เป็นหนึ่งในนี้ รวมทั้งต้องปรับปรุงการเข้าถึงสินเชื่อและลดต้นทุนการกู้ยืม

2.กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซัน ด้วยการอุดหนุนค่าโรงแรมและการเดินทาง การส่งเสริมกิจกรรมในร่ม เช่น คอนเสิร์ต การจัดอีเวนต์ของภาคธุรกิจ โปรโมตประเทศไทยไปยังประเทศที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่สุด เช่น เอเชียใต้ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โอเชียเนีย และตะวันออกกลาง การจัดกิจกรรมและเทศกาลระดับโลก

3.กระตุ้นการท่องเที่ยวในปี 2568 มุ่งเน้นการเพิ่มนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซีย เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวยุโรปและตะวันออกกลางโดยเน้นกลุ่มใช้จ่ายสูง

ทั้งหมดนี้ เป็นกรอบแนวคิดของรัฐบาลที่เห็นว่าต้องแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีปัญหา บางเรื่องแก้ไขได้ในระยะสั้น บางเรื่องต้องใช้เวลาระยะกลาง และระยะยาว

ถือเป็นโจทย์ท้าทายของ “เศรษฐา ทวีสิน”.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ