ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม รายงานข้อมูลแนวโน้มการปิดตัวของโรงงานในประเทศไทย โดยพบว่าช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) มีการแจ้งเลิกทะเบียนโรงงาน รวมแล้วทั้งสิ้น 667 แห่ง คิดเป็นทุนจดทะเบียน อยู่ที่ 18,091 ล้านบาท และมีผลกระทบต่อการจ้างงานสูงถึง 17,674 คน
ขณะส่วนต่างของจำนวนโรงงานที่เปิดตัวใหม่และปิดตัวในช่วงเวลาดังกล่าว ลดลง 109 แห่ง ซึ่งส่งสัญญาณน่าเป็นห่วงมากขึ้นเกี่ยวกับภาคการผลิตของไทย พร้อมๆ กับความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า
โดยโรงงานที่ปิดตัว กระจายหลากหลายอุตสาหกรรม มากสุดในกลุ่มโรงโม่ บดย่อยหิน / โรงขุด, โรงงานอาหารและเครื่องดื่ม, การทำยางขั้นต้น / ผลิตภัณฑ์ยาง, เหล็ก และโลหะ เป็นต้น ส่วนแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มแปรรูปไม้ / ผลิตภัณฑ์กระดาษ, ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้า, กิจการสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม
เมื่อเจาะดูรายพื้นที่ ข้อมูลในชุดเดียวกันระบุว่า จังหวัดชลบุรี ได้กลายเป็นพื้นที่อันดับ 1 ที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี มีการปิดตัวของโรงงานสูงสุด จำนวน 118 แห่ง รองลงมา คือ สมุทรปราการ 45 แห่ง และกรุงเทพฯ 44 แห่ง
ทั้งนี้ เป็นที่รับรู้กันว่า “จังหวัดชลบุรี” เป็นจังหวัดที่มีระบบเศรษฐกิจและศักยภาพสูงระดับประเทศ โดยมีมูลค่า GPP อยู่ที่ 1,059,797 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 43.44 ของ GDP กลุ่มจังหวัด EEC และหากคิดเป็นสัดส่วน 6.27% ของ GDP ประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 3 รองจากจังหวัดระยอง และกรุงเทพฯ เท่านั้น
อย่างไรก็ดี จะพบว่าทุกครั้งที่เกิดภาวะช็อกทางเศรษฐกิจเมืองอุตสาหกรรม และมีศักยภาพครบทั้งในภาคการท่องเที่ยว และเชิงพาณิชย์ มักเห็นภาพผลกระทบเกิดขึ้นเป็นลำดับต้นๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งงานขนาดใหญ่ มีนิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งในภาคการผลิต การส่งออก ท่องเที่ยว และบริการ โดยมีนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันอย่าง นิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร, นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง, นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง หรือ จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมพานทองเกษม ชลบุรี ที่เป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมกระจก เป็นต้น
ขณะข้อมูลในภาพรวมเกี่ยวกับรายได้เฉลี่ยประชากรต่อคนต่อปี อยู่ที่ 143,407.08 บาท อําเภอที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีมากที่สุด ได้แก่ อําเภอสัตหีบ 217,945.36 บาท ส่วนอําเภอที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีน้อยที่สุด ได้แก่ อําเภอบ่อทอง 78,839.54 บาท
จับสัญญาณตลาดที่เกี่ยวข้องกับ “กำลังซื้อ” อย่างตลาดอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มที่อยู่อาศัยพิษของวิกฤติโควิด และปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่สดใสอย่างหวัง ประกอบกับปัจจัยซึมในภาคการผลิต ดอกเบี้ย และเงินเฟ้อ ก็ส่งผลต่อตลาดอสังหาฯ อย่างชัดเจนเช่นกัน
โดยข้อมูลของ REIC (ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์) รายงานว่า ผลการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยรายจังหวัดในไตรมาส 1 ปี 2567 ของจังหวัดในพื้นที่ EEC พบ แม้จังหวัดชลบุรีจะมีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า มากกว่า 448% โดยเฉพาะในกลุ่มโครงการคอนโดมิเนียม
แต่พบว่าชลบุรียังมีที่อยู่อาศัยเหลือขาย เป็นจำนวน 29,224 หน่วย เพิ่มขึ้น 10.8% รวมเป็นมูลค่า 110,161 ล้านบาท ราว 17,300 หน่วย เหลือขายในกลุ่มคอนโดฯ มูลค่า 66,383 ล้านบาท กระจายอยู่ใน 3 ทำเลอันตรายหลักๆ ได้แก่
ซึ่ง ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการ REIC ให้ความเห็นว่า แม้ตลาดที่อยู่อาศัยในชลบุรีในภาพรวมยังเป็นตลาดที่มีโอกาสที่จะขยายตัวได้ แต่ต้องระวังซัพพลายส่วนเกินของคอนโดฯ ที่เป็นอยู่ขณะนี้ และทาวน์เฮาส์ที่ทิศทางของยอดขายปรับตัวลดลงต่อเนื่องมา 5 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว ส่งผลให้มีอสังหาฯ เหลือขายเพิ่มสูงขึ้นถึง 26%.
ที่มา : กรมโรงงานอุตสาหกรรม, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, REIC, จังหวัดชลบุรี
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney