“หนี้ครัวเรือน” ระเบิดเวลา เศรษฐกิจไทย จะไปจบที่ตรงไหน?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“หนี้ครัวเรือน” ระเบิดเวลา เศรษฐกิจไทย จะไปจบที่ตรงไหน?

Date Time: 24 ก.ค. 2567 15:40 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • "หนี้ครัวเรือน" ระเบิดเวลา เศรษฐกิจไทย จะไปจบที่ตรงไหน? กางข้อมูลสถิติ สภาพัฒน์ อัปเดต ปี 2566 หนี้พุ่ง! 16.36 ล้านล้านบาท 91.3% ต่อ จีดีพี ขณะ ttb analytics คาด สิ้นปี 2567 ตัวเลขแตะ 16.9 ล้านล้านบาท คนไทยไม่มีกันชนทางการเงิน เศรษฐกิจเข้าสู่ยุคโตต่ำ 2% เสี่ยงหนี้เสียล้นระบบ

Latest


แม้ “หนี้ครัวเรือนไทย” จะเป็นปัญหาคู่สังคมไทย ที่หลายคนคงคุ้นหูกันอยู่แล้ว แต่ถ้าบอกว่า ปัจจุบันแนวโน้ม มีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น รุนแรงขึ้น และกำลังกัดกร่อน เศรษฐกิจไทย ยังจะวางใจกันได้อีกหรือไม่? 

ข้อมูลอัปเดต ของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ ที่รู้จักกันในนาม “สภาพัฒน์” เผยให้เห็นถึง วิวัฒนาการของ “หนี้ครัวเรือน” ที่ค่อนข้างสูงของประเทศไทย ว่าไม่ใช่เพียงแค่ ปัญหาเรื้อรัง และส่งผลต่อการใช้จ่ายของภาคประชาชน โดยเฉพาะ กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย 

แต่หากเรื่องดังกล่าว ยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจเป็นชนวนฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ และสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว ไม่ต่างจาก “ระเบิดเวลา” พร้อมๆ กับ หนี้เสีย (NPL) กำลังท่วมระบบ จากมาตรการผ่อนผัน ช่วยเหลือลูกหนี้ช่วงโควิด ที่ทยอยหมดลง ซึ่งตัวเลข หนี้เสีย 8 แบงก์หลักของไทย ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 ทะลุ 5.4 แสนล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือ นี่จะเป็นอีกทางตัน ทำให้ทิศทางเศรษฐกิจไทย เข้าสู่ยุคโตต่ำ 2% ศักยภาพถดถอย 

เจาะข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ตัวเลข “หนี้ครัวเรือนไทย” ย้อนหลังของสภาพัฒน์ ภาพรวมปี 2566 หนี้สินครัวเรือน มีมูลค่า 16.36 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3% แม้ชะลอตัวหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP สูงอยู่ที่ 91.3% เพิ่มขึ้นจาก 91% แม้ประเภทสินเชื่อหลัก อย่าง บ้าน และ รถยนต์ จะเห็นแนวโน้มลดลง แต่ตัวเลขในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตเร่งขึ้น

เช่นเดียวกับ สินเชื่อส่วนบุคคล สะท้อน ครัวเรือนไทยระมัดระวังการก่อหนี้ใหม่กลุ่มมูลค่าสูง และขาดสภาพคล่อง ใช้จ่ายผ่านการหยิบยืมเงินในอนาคต มาหมุนเวียน อีกทั้งยังเป็นความเสี่ยงของหนี้เสียในระบบ เนื่องจาก เป็นกลุ่มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

เกิดภาพข่าวใหญ่ : หนี้ท่วม บ้านหด รถโดนยึด คนไทยพับแผนซื้อบ้านนาน 5 ปี หรือ จะเป็นข่าว ธปท.ห่วง หนี้ครัวเรือน แก้ได้ยาก คนไทยติดกับดัก “หนี้บัตรเครดิต” สินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตในอัตราเร่งสูงสุดในรอบทศวรรษ


ขณะศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่า ภายในสิ้นปี 2567 ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย อาจเพิ่มขึ้นแตะ ระดับ 91.4% ต่อ GDP หรือ ราว 16.9 ล้านล้านบาท สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังคงน่าเป็นห่วง ทั้งในมิติของปริมาณการก่อหนี้ที่ไม่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเร็วและคุณภาพหนี้มีแนวโน้มด้อยลง เพราะ เศรษฐกิจขยายตัวแบบเชื่องช้า! จาก 3 ความเสี่ยงเพิ่มเติม ได้แก่ 

  • เศรษฐกิจและระดับรายได้ฟื้นช้า ซึ่งหากฐานะทางการเงินของผู้ประกอบการขนาดเล็กส่วนใหญ่ “อ่อนแอ” ธุรกิจไปต่อไม่ได้ ก็จะกระทบแรงงานถึง 71% ของแรงงานทั่วประเทศ นั่นหมายถึง หาก รายได้แรงงานลด หรือ ตกงาน ครัวเรือนบางส่วน อาจต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติม เพื่อทดแทนสภาพคล่องที่หายไป มูลหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ จะเพิ่มขึ้นอีก
  • ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นมาก กระทบความสามารถในการชำระหนี้ในภาพรวม และ เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น 
  • พฤติกรรมการก่อหนี้ โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี และ การสร้างหนี้อย่างผิดวัตถุประสงค์ ทำให้การลดลงของหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องค่อนข้างยาก 

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนไทย ที่อยู่ในจุดใกล้เส้นยาแดง มาเป็นเวลานาน และ ถูกซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงปี 2563-2564 เศรษฐกิจไทยถูกกระทบรุนแรง รายได้ครัวเรือนหายไปมาก จนดันให้ สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ของคนไทย เพิ่มขึ้นมาเกินระดับ 30% 

ได้ถูกสะท้อนความกังวล โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ชี้ว่า ยิ่งคนไทยแบกภาระหนี้สูง ยิ่งจะกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภค และ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก แม้รายได้ของครัวเรือนจะมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็ตาม แต่คาดว่า ภาระหนี้ที่สูง ทั้งหนี้ในระบบ และ หนี้นอกระบบ จะยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจากครัวเรือนจำเป็นต้องนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปชำระหนี้ที่มีอยู่เดิมก่อน ทำให้ไม่สามารถใช้จ่ายได้อย่างเต็มที่ กระทบธุรกิจ ห้างร้าน การผลิตต่างๆ 

ประกอบกับ หากระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ จะทำให้ครัวเรือนขาดภูมิคุ้มกันในการรองรับเหตุการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาตค เช่น หากถูกเลิกจ้าง หรือค่าจ้างถูกปรับลดลงมาก 

เพราะนอกจากครัวเรือนจะลดการบริโภคแล้ว ยังอาจส่งผลให้ครัวเรือนผิดนัดชำระหนี้ สร้างความเสี่ยงให้กับระบบสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้ยืม และในกรณีเลวร้ายหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง ระบบการเงินได้รับความเสียหายจนไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ก็จะกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจรุนแรง และอาจนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจได้ในท้ายที่สุด.

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์