แม้แนวโน้ม "เศรษฐกิจไทย" ปี 2567 ยังคงถูกคาดการณ์ว่า จะขยายตัวได้จากปีก่อนหน้า แต่ก็ต้องยอมรับว่า เราโตไม่ทันเพื่อน ซึ่งมาจากหลายเหตุผล ทั้งการฟื้นตัวของการค้าโลก และการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีที่ล่าช้า จากเหตุการเมืองป่วน ทำให้การลงทุนภายในประเทศชะลอตัว
เจาะ GDP ไตรมาสแรกของปี ขยายตัวแค่ 1.5% สะท้อนภาพความยากเย็น ที่จะเข็นให้เศรษฐกิจขยายตัวเกิน 3% อย่างความหวังเริ่มแรก ขณะที่หลายสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจ ระบุ ดูจากทิศทางแล้ว ปีนี้ เศรษฐกิจไทย อาจโตต่ำ 2% ซึ่งเป็นการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่ในความเป็นจริงที่เจ็บปวดกว่าคือ ถูกฟันธงว่าศักยภาพของเราในอนาคตก็อาจจะโตได้เท่านี้! ไม่ว่าปีไหนๆ ท่ามกลางประเทศอื่นๆ รอบบ้านอย่าง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ฟื้นเร็วและโตแกร่ง!
ตัดภาพมาที่ “ผู้บริโภค” อย่างเราๆ อย่างที่บอกแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวได้ และตามข้อมูลไม่เกิดการถดถอยมานานนับตั้งแต่ปี 2020 ที่เกิดโควิดครั้งใหญ่ แต่หลายคนกลับรู้สึกว่าสถานการณ์แย่เทียบเท่า หรือแย่กว่าช่วงโควิดเสียอีก เรื่อยไปจนถึงการนำไปเปรียบเทียบกับ วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ว่าสิ่งที่เผชิญอยู่ไม่แตกต่างกัน
ขณะกลุ่มธุรกิจ ชี้ว่า แม้วิกฤติครั้งนี้จะมองดูผิวเผินไม่ได้รุนแรงเท่าปี 2540 แต่นั่นก็เพราะว่าปี 2540 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มองเห็นความเสียหายได้ชัดเจน แต่ในวิกฤติครั้งนี้เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเริ่มชัดเจนในช่วงโควิด-19
ซึ่งสถานการณ์ และความรู้สึกดังกล่าว ถูก EDGE by KKP (กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร) ขยายความไว้ว่า คือนิยามของ “Silent Recession” หรือ การถดถอยของเศรษฐกิจอย่างเงียบๆ
สาเหตุของ Silent Recession มาจากปัจจัยหลักๆ กล่าวคือ การที่ “ต้นทุนการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มของรายรับ” โดยค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง รวมไปถึงค่าอาหาร ต่างปรับตัวขึ้นด้วยอัตราที่มากกว่าเงินได้
ทำให้หลายคนมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ยิ่งทำให้คนที่มีภาระต้องดูแลคนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นลูกหลานหรือผู้สูงอายุได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ หลายต่อหลายคนรู้สึกถึงแรงกดดันทางการเงิน และไม่สามารถที่จะอดออมเงินได้
KKP Research ยังวิเคราะห์ว่า ยอดปิดโรงงานที่เพิ่มขึ้น และหนี้เสียในภาคการผลิตกำลังเร่งตัว ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ในอนาคตยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ขณะหนึ่งในตัวแบกเศรษฐกิจไทยอย่างการท่องเที่ยวก็ส่งผลดีโดยตรงเพียงแค่ไม่กี่ประเภทธุรกิจ แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ที่หวังพึ่งการบริโภคในประเทศยังคงอยู่ในภาวะ “ซบเซา”
อีกทั้งความเหลื่อมล้ำของสังคมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกดีไปกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น หรือแม้แต่ราคาบ้านหรือคอนโดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินเอื้อม ในขณะที่ค่าเช่าที่ต้องจ่ายในทุกเดือนก็เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตามอัตราดอกเบี้ย ก็เป็นตัวกดความรู้สึกว่ากำลังจมอยู่ในวิกฤติ
แต่คำถามสำคัญคือ เมื่ออยู่ใน Silent Recession เราควรจะรับมืออย่างไร ซึ่งยังคาดเดาไม่ได้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับขึ้นมาได้เมื่อไร? ทางออกอาจเป็น 3 ข้อ ดังนี้
ทั้งนี้ ตามทฤษฎีเงินสำรองฉุกเฉิน คือ ประมาณ 3-6 เท่าของรายจ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือน เช่น ถ้าคุณมีเงินเดือน 50,000 บาท มีค่าใช้จ่ายคงที่ 35,000 บาทต่อเดือน (ค่าอาหารรายเดือน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ฯลฯ) เงินสำรองที่คุณควรมีเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินควรอยู่ในช่วง 105,000-210,000 บาท (35,000 x 3 และ 35,000 x 6) แต่หากคุณประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) ซึ่งมีรายได้ที่ไม่แน่นอน อาจมีเงินสำรองไว้อย่างน้อย 12 เดือน นั่นคือ 420,000 บาทนั่นเอง (35,000 x 12).
ที่มา : KKP
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney