แก้คอขวดห้วงอากาศรับเที่ยวบินโต บวท.เร่งสร้างเส้นทางบินคู่ขนาน “ไทย-ลาว-จีน”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แก้คอขวดห้วงอากาศรับเที่ยวบินโต บวท.เร่งสร้างเส้นทางบินคู่ขนาน “ไทย-ลาว-จีน”

Date Time: 18 ก.ค. 2567 06:50 น.

Summary

  • วิทยุการบินเดินหน้าจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานเชื่อมต่อเส้นทางบิน “ไทย–ลาว–จีน” หลังพบสถิติเที่ยวบินจีนโตกว่า 100% ด้าน “สุรพงษ์” เข้าร่วมถกจีนด่วน! ดันพัฒนาระบบเทคโนโลยีเดินอากาศ หวังเพิ่มเส้นทางบินอีกเท่าตัว เครื่องบินไม่ต้องบินวนรอลง มั่นใจรองรับเป็น 2 แสนเที่ยวต่อปี รับอุตสาหกรรมการบินโต

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ภายหลังจากที่อุตสาหกรรมการบินกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีปริมาณเที่ยวบินเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และในประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาเที่ยวบินเข้าออกประเทศพุ่งขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ทางกระทรวงคมนาคม โดย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) จึงได้เตรียมหาวิธีจัดทำเส้นทางบินคู่ขนาน หรือ Parallel Route โดยหวังว่าจะทำให้เส้นทางการบินเข้าออกประเทศไทย และออกไปยังทางประเทศลาวและจีนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะรองรับนโยบายของรัฐที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการบิน

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา “นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ” รมช.คมนาคม ได้เป็นประธานในการประชุมร่วมกับอธิบดีสำนักบริหารการจราจรทางอากาศภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ (SW ATMB) กรมการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CAAC) ผู้แทนจากสมาคมเศรษฐกิจไทยจีนและรองประธานอาวุโสหอการค้าไทย-ฉงชิ่ง เลขาธิการกรรมาธิการสมาคมการลงทุนแห่งนานาชาติ กงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน และผู้บริหารบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ถึงความร่วมมือในการรองรับเที่ยวบินระหว่างไทย-จีนที่เพิ่มขึ้น

“เส้นทางบินคู่ขนาน” รับปริมาณการบินเพิ่ม

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศนโยบายขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทย และยกระดับศักยภาพด้านการบินของประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลไทยและจีนได้เห็นชอบข้อตกลงทวิภาคีในการยกเลิกข้อกำหนดด้านวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเที่ยวบินระหว่างไทย-จีนมีสัดส่วนที่สูงสุดคือ 20% ของปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 66-พฤษภาคม 67 (8 เดือน) มีเที่ยวบินไทย-จีน รวมทั้งสิ้น 55,433 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 213% และคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2567 จะมีปริมาณเที่ยวบินไทย-จีน รวม 86,150 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นทั้งปี 126%

“ผมได้มอบหมายให้วิทยุการบินเร่งขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน ซึ่งวิทยุการบินได้จัดสร้างเส้นทางบินใหม่ให้เป็นแบบเส้นทางบินคู่ขนาน หรือ Parallel Route ซึ่งอาศัยเทคโนโลยี Performance Based Navigation (PBN) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการจราจรทางอากาศและเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน อีกทั้งปรับปรุงระบบเทคโนโลยี ปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศ”

จัดระบบการเดินอากาศใหม่เพิ่มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้วิทยุการบินเตรียมความพร้อมระบบการบริหารจัดการจราจรทางอากาศใหม่ และจัดเตรียมสถานที่สำหรับติดตั้งระบบใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินประมาณ 2 ล้านเที่ยวบินในปี 81

โดยให้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ปรับปรุงเส้นทางบินและออกแบบห้วงอากาศให้เหมาะสม รวมทั้งนำแนวทางปฏิบัติการบริหารจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management: ATFM) มาใช้บริหารจัดการเที่ยวบินและเตรียมวางระบบบริหารจราจรทางอากาศสำรอง (Off-site Backup) ตามแผนรองรับภาวะฉุกเฉินด้านบริการจราจรทางอากาศ เพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่องด้วยความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เป็นการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีระบบการบริหารจัดการจราจรทางอากาศที่มีศักยภาพเป็นไปตามมาตรฐาน รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการบินของโลก ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub)

มั่นใจช่วยแก้ไขปัญหาเครื่องบินบินวน

ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า วิทยุการบินได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศและเพิ่มศักยภาพการให้บริการการเดินอากาศให้รองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น รวมถึงบริหารห้วงอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิทยุการบินได้ร่วมมือกับจีนและลาว ในการสร้างเส้นทางบินใหม่แบบคู่ขนาน (Parallel Route) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาคอขวด ซึ่งเดิมจากการตรวจสอบพบว่าเส้นทางการบินเข้า-ออกระหว่างประเทศไทยกับจีนมีปัญหาคอขวดเกิดขึ้นบริเวณประเทศลาวที่จะเข้ามายังประเทศไทย

“การทำการบินคู่ขนานจะทำให้รองรับปริมาณเที่ยวบินระหว่างไทย-จีน จากปัจจุบัน 100,000 เที่ยวบินต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 200,000 เที่ยวบินต่อปี ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาบินและการบินวนรอได้มาก” ในช่วงที่ผ่านมา วิทยุการบินฯจึงได้เข้าหารือกับทางจีนและลาว เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อบริหารจัดการจราจรทางอากาศที่จะไปยังสนามบินหลัก คือ เชียงใหม่และเชียงราย รวมทั้งเส้นทางบิน
แยกย่อยไปยังสนามบินต่างๆ รวมถึงเชื่อมต่อเส้นทางบินระหว่างประเทศ เพื่อรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศจากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงไปยังเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน เช่น เฉิงตู เทียนฟู คุนหมิง กุ้ยหยาง ฉงชิ่ง ซีอาน ได้เพิ่มขึ้น

ด้านนายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท.กล่าวว่า วิทยุการบินมีแผนจะเชื่อมโยงข้อมูลของระบบจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศเข้ากับระบบ Airport Collaborative Decision Making (A-CDM) ณ สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งจะช่วยให้รองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้เพิ่มขึ้นและลดความล่าช้าของเที่ยวบิน และจะนำ Digital Tower มาใช้งานสำหรับท่าอากาศยานขนาดใหญ่และมีปริมาณเที่ยวบินหนาแน่น เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยบริเวณทางขับ ทางวิ่ง และหลุมจอด รวมถึงเพื่อรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงแรกจะทำการศึกษาเพื่อนำเข้าใช้งาน ณ สนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ