นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงข้อกังวลของประชาชนและภาคเอกชนเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ว่า กระทรวงพลังงานกำลังเร่งหาแนวทางลดภาระค่าครองชีพประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยจะดำเนินการบริหารจัดการและประสานทุกภาคส่วน จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) โดยให้ไปหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมกันในการบริหารต้นทุนค่าไฟ เพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชน
สำหรับกระแสข่าวว่าค่าไฟฟ้าของไทยแพงที่สุดในอาเซียน ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ค่าไฟฟ้าของไทยอยู่ในระดับปานกลาง ที่มีข่าวว่าเวียดนามค่าไฟถูกกว่าไทยค่อนข้างมาก เพราะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำเป็นหลัก จึงทำให้ต้นทุนถูกกว่า แต่ก็ไม่มีความเสถียรด้านไฟฟ้า เกิดไฟฟ้าดับบ่อย อินโดนีเซียก็ใช้ถ่านหินก็ทำให้ต้นทุนถูกกว่า
“ผมเข้าใจความรู้สึกของประชาชนและภาคเอกชนที่กังวลถึงค่าไฟฟ้าในงวดเดือนใหม่ที่ กกพ.ประกาศออกไป แต่เนื่องจากราคาพลังงานทั่วโลกผันผวนในระดับสูง อีกทั้งกระทรวงพลังงานต้องรักษาสมดุลทั้งด้านเสถียรภาพด้านพลังงาน ความน่าเชื่อถือทางการเงินของ กฟผ. รวมทั้งคำนึงถึงภาระค่าครองชีพของประชาชน จะพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาสมดุล โดยหาแนวทางพิจารณาค่าไฟฟ้าที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด”
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าเป็นเรื่องของต้นทุนการผลิตทุกๆอุตสาหกรรม ที่จะได้รับผลกระทบก็คือกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก สิ่งที่น่าห่วง คู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม ค่าไฟเฉลี่ย 2.70 ต่อหน่วย อินโดนีเซีย ค่าไฟเฉลี่ย 3.33 บาท ของไทยงวดปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาท ก็ยังสูงกว่าคู่แข่งอยู่ดี เรื่องนี้ทาง ส.อ.ท.และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เห็นตรงกันว่าราคาเดิมก็มากพออยู่แล้ว ถ้ายิ่งงวดใหม่ปรับแม้ต่ำสุด 4.65 บาทต่อหน่วย ยิ่งสูงเข้าไปอีก สายป่านที่รับได้ อาจไม่เหมือนกันทุกราย สุดท้ายผู้ประกอบการต้องหันไปมองหาสินค้านำเข้าที่ถูกกว่า กระทบกับผู้ประกอบการในประเทศอยู่ดี.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่