เช็กชีพจร เศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เช็กชีพจร เศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

Date Time: 16 ก.ค. 2567 05:50 น.

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

เข้าสู่กลางเดือน ก.ค.เดือนแรกของครึ่งปีหลังของปี 2567 มีคนถาม “มิสเตอร์พี” เข้ามาว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเป็นอย่างไร จะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกที่เราเพิ่งผ่านมาหรือไม่

เท่าที่ฟังจากสำนักวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจส่วนใหญ่มองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจครึ่งปีหลังของปี 67 นี้จะดีกว่าครึ่งปีแรก โดยค่าเฉลี่ยมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนไตรมาสละ 3% หรือมากกว่า ซึ่งสูงกว่าครึ่งแรกของปีนี้ที่การขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.5-2%

ส่วนหนึ่งการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นเป็นการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจจริงจากการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวแข็งแกร่ง ส่งผลให้แรงงานภาคบริการมีกำลังใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ภาคการส่งออกแม้ว่าจะไม่ฟื้นตัวชัดเจน แต่ก็ปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม อีกส่วนหนึ่งของตัวเลขการขยายตัวที่ดูดีในครึ่งปีหลังมาจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา เพราะหากจำกันได้ไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยตกท้องช้าง เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลยังไม่ผ่านสภา ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาลติดลบ

หักลบกลบกันแล้ว การขยายตัวของครึ่งหลังปีนี้น่าจะดีกว่าครึ่งปีแรกไม่มากนัก โดยคีย์สำคัญที่ยังปั่นป่วนเศรษฐกิจไทยคือ “ค่าครองชีพ” ที่สูงมาก วันนี้แม้ในทางตัวเลขเงินเฟ้อจะลดลงแล้ว แต่ราคาสินค้าที่ขึ้นไปในช่วงเงินเฟ้อสูงไม่ได้ลดลงกลับมาด้วย คนไทยยังต้องซื้อของแพง และมีแนวโน้มที่จะแพงขึ้นต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเริ่มมีความจำเป็นต้องทยอยลดความช่วยเหลือผ่านมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำมัน และค่าไฟฟ้าที่รัฐบาลทำมายาวนานหลายปีลงต่อเนื่องเนื่องจากความตึงตัวทางการคลังที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น หากถามชาวบ้านว่าครึ่งปีหลังความเป็นอยู่จะดีกว่าครึ่งปีแรกหรือไม่ ก็จะมีบางส่วนในภาคการท่องเที่ยว และส่วนที่เกี่ยวข้องต่อเนื่อง ตอบว่า เศรษฐกิจดีขึ้นบ้าง แต่ยังไม่เหมือนกับช่วงก่อนโควิด แต่ในภาคอื่นๆนั้น คำตอบ ความเป็นอยู่ครึ่งปีหลังและครึ่งปีแรกยังไม่แตกต่างกันมากนัก แค่ประคองตัวไปได้ ขณะที่คนที่มีรายได้น้อยต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน อาจจะตอบว่า อยู่ในสภาวะประสบปัญหาทางการเงินเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งจึงไม่ปฏิเสธแนวคิดการใช้ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น” ของรัฐบาลในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นที่รัฐบาลนี้ออกมาก่อนหน้า เช่น มาตรการช่วยภาคอสังหาฯ ยังไม่ตอบโจทย์ของคนจนที่อยู่ในภาวะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งนึกถึง “มาตรการคนละครึ่ง” ซึ่งใช้ง่าย ใช้สะดวก และลดภาระการใช้เงินแต่ละวันของคนไทยได้จริง

ในขณะเดียวกัน คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รังเกียจรังงอนอะไรกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งเป็นเรือธงของรัฐบาล แต่จากความติดขัด และขยับได้ล่าช้า ทำให้คาดกันว่าผลที่คาดว่าจะได้จากโครงการนี้อาจจะไม่ทันกับสถานะทางการเงินของคนไทยในเวลานี้ โดยเฉพาะสถานะของคนจนที่ต้องการการพยุงอย่างเร่งด่วน

ดังนั้น ก่อน “ดิจิทัลวอลเล็ต” จะออกมาในปลายไตรมาสที่ 4 ในช่วงเร็วๆนี้ คนไทยกำลังรอลุ้นมาตรการเฉพาะหน้าที่จะออกมาขัดตาทัพ ซึ่งควรจะเป็นมาตรการเพิ่มกำลังใช้จ่าย ไม่ใช่เพิ่มกำลังการก่อหนี้เพิ่ม และต้องลงไปครัวเรือนมีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน เป็นการเร่งด่วน หากต้องการให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้นได้ตามคาด.

มิสเตอร์พี

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ