รัฐบรรเทานายจ้างขึ้นค่าแรง 400 บาท ส่งเงินประกันสังคมเหลือ 2%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รัฐบรรเทานายจ้างขึ้นค่าแรง 400 บาท ส่งเงินประกันสังคมเหลือ 2%

Date Time: 15 ก.ค. 2567 06:20 น.

Summary

  • รัฐเอาแน่! ขึ้นค่าแรง 400 บาท ดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ พร้อมออกมาตรการเยียวยาระยะสั้น 3 เดือน ให้นายจ้างลดเงินสมทบประกันสังคมลงเหลือ 2% พร้อมลดเงินสมทบฝ่ายลูกจ้างเหลือ 2% ด้วยรองรับเศรษฐกิจไม่ดี ลุ้นเสนอ ครม.เร็วๆนี้

Latest

เจ้าหนี้การบินไทยขอเลื่อนโหวตแผนฟื้นฟู

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงแรงงานได้รวบรวมมาตรการเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการในการรับมือกับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาทที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2567 และช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี รัฐบาลจึงเตรียมออกมาตรการชั่วคราวโดยใช้มาตรการลดการส่งเงินสมทบประกันสังคมของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างจากฝ่ายละ 5% เหลือฝ่ายละ 2% โดยลดลงไปฝ่ายละ 3% ของฐานค่าจ้าง เป็นมาตรการชั่วคราว 3 เดือน ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค.2567 และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป

ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนการหารือกับคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีเพื่อประเมินความพร้อมของแต่ละอุตสาหกรรมและจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือสำหรับธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่ระดับ 400 บาททั่วประเทศเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ หลายภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอาจส่งผลให้บริษัทบางรายต้องลดจำนวนพนักงานเพื่อปรับต้นทุน ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มอัตราว่างงาน และกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี มีความกังวลว่าน่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นซึ่งอาจส่งผลให้ต้องปรับราคาสินค้าและบริการ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประกอบการได้พยายามหารือกับทางภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และภาครัฐยืนยันว่านโยบายนี้จะต้องดำเนินการตามที่กำหนดไว้ และรับทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งการลดการส่งเงินสมทบประกันสังคมให้นายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 3% เทียบเท่ากับการที่รัฐบาลช่วยรับภาระการขึ้นค่าแรงของนายจ้าง ตัวอย่างเช่นปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวม 6 จังหวัด คือ 363 บาทต่อวัน หากมีการปรับค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน นายจ้างจะต้องจ่ายเพิ่มอีก 37 บาทต่อวัน แต่เมื่อรัฐบาลได้ลดการส่งเงินสมทบประกันสังคมให้นายจ้าง 3% เทียบเท่ากับได้ลดค่าใช้จ่ายให้นายจ้างลงวันละ 12 บาท ทำให้ภาระที่นายจ้างรับจริงอยู่ที่วันละ 25 บาท

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดมีผู้ประกันตนในมาตรา 33 จำนวน 11.8 ล้านคน แม้ว่าในปัจจุบันบริษัทและโรงงานขนาดใหญ่ส่วนใหญ่จะจ่ายค่าแรงเกิน 400 บาทต่อวันอยู่แล้ว

สำหรับกรณีบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแผนการดำเนินธุรกิจในไทยโดยจะยุติสายการประกอบรถยนต์ที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดอยุธยา ไปรวมในโรงงานที่จังหวัดปราจีนบุรี เท่ากับว่าจะเหลือโรงงานประกอบรถยนต์ที่เดียวในประเทศไทย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ทำให้ยอดส่งออกรถลดลง อีกทั้งได้รับผลกระทบจากตลาดรถยนต์ในประเทศด้วย

ขณะนี้แผนการย้ายฐานประกอบได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยทางฮอนด้าเปิดรับความสมัครใจจากพนักงานหากต้องการย้ายไปทำงานในโรงงานที่ปราจีนบุรี โดยทางบริษัทจะมีค่าย้ายถิ่นหรือ relocation costs ให้ ขณะที่โรงงานที่ปราจีนบุรีก่อนหน้านี้ได้ทำการลดกำลังการผลิตและให้พนักงานส่วนหนึ่งหยุดงานไป 5-6 เดือน แต่บริษัทจ่ายค่าแรงจำนวน 75% ของค่าแรงนั้น ได้เรียกกลับเข้ามาทำงานแล้ว โดยคาดว่า จะเริ่มเพิ่มกำลังประกอบรถยนต์ได้ในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้ โรงงานแห่งนี้จะผลิตรถยนต์อีวีรวมไปถึง รถยนต์ขับเคลื่อนพลังงานไฮโดรเจนในอนาคตด้วย.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ