นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงจากงวดก่อนหน้า 1.29 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.) เป็น 36.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้ง การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศและต่างประเทศ, การผลิตไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีต้นทุนราคาถูก มีความพร้อมในการผลิตลดลง ท่ามกลางราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นจากงวดก่อน 3.2 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู จากความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น จากการเข้าสู่ฤดูหนาวช่วงปลายปี ถือเป็น 3 สาเหตุหลักที่อยู่เหนือการควบคุม ส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าของไทยสูงขึ้น เมื่อรวมกับการที่ต้องทยอยคืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงค้างชำระในงวดก่อนหน้าให้กับ กฟผ.จึงส่งผลให้ค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ ต้องปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน “ทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) ต้องปรับขึ้นในระดับ 46.83-182.99 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บงวด ก.ย.-ธ.ค.นี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย จากงวด พ.ค.-ส.ค.อยู่ที่ 4.18 บาท”
ดังนั้น กกพ.จะได้นำค่าเอฟทีประมาณการ และแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ.ไปรับฟังความคิดเห็น ผ่านเว็บไซต์ กกพ.ตั้งแต่วันที่ 12-26 ก.ค.นี้ ก่อนสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการ ดังนี้ กรณีที่ 1.ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟที (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด) ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 222.71 สต.ต่อหน่วย ซึ่งเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟที ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค. 34.30 สต.ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. 98,495 ล้านบาท หรือ 163.39 สต.ต่อหน่วย และมูลค่า AFGAS (ต้นทุนคงค้างราคาก๊าซธรรมชาติ) 15,083.79 ล้านบาท หรือ 25.02 สต.ต่อหน่วย รวมทั้งสิ้น 188.41 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ.จะได้รับเงินที่รับภาระแทนประชาชนตั้งแต่เดือน ก.ย.64-เม.ย.67 คืนทั้งหมดภายในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด เมื่อรวมค่าเอฟทีขายปลีกที่คำนวณได้ กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาท ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 44% จากระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน
กรณีที่ 2.กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง 3 งวด ค่าเอฟทีขายปลีก เท่ากับ 113.78 สต.ต่อหน่วย สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค. 34.30 สต.ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนต้นทุนคงค้างที่ กฟผ.ออกเป็น 3 งวด งวดละ 32,832 ล้านบาท คิดเป็น 54.46 สต.ต่อหน่วย และมูลค่า AFGAS 15,083.79 ล้านบาท คิดเป็น 25.02 สต.ต่อหน่วย รวมทั้งสิ้น 79.48 สต.ต่อหน่วย โดยสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ.คงเหลือที่ 65,663 ล้านบาท
ขณะที่รัฐวิสาหกิจจะได้รับส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติคืนทั้งหมด เมื่อรวมค่าเอฟทีขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐาน ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 18% จากงวดปัจจุบัน กรณีที่ 3.จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 86.55 สต.ต่อหน่วย สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ 34.30 สต.ต่อหน่วย และทยอยชำระคืน กฟผ. 6 งวด งวดละ 16,416 ล้านบาท คิดเป็น 27.23 สต.ต่อหน่วย และมูลค่า AFGAS 15,083.79 ล้านบาท หรือ 25.02 สต.ต่อหน่วย รวมทั้งสิ้น 52.25 สต.ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 11% จากงวดปัจจุบัน แต่มีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ.อยู่ 82,079 ล้านบาท
“หากรัฐต้องการตรึงค่าไฟฟ้าที่หน่วยละ 4.18 บาทเท่าเดิม จะต้องหางบมาเพิ่ม 28,000 ล้านบาท มี 2 แนวทางคือ ยืดจ่ายหนี้ กฟผ.จาก 0.2723 เหลือ 0.05 สต.ต่อหน่วย จะทำให้มีหนี้คงค้างเพิ่มขึ้นจาก 98,495 ล้านบาท บวก 28,000 ล้านบาท เป็น 126,495 ล้านบาท หรือใช้วิธีนำมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง กับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 มาตรึงราคาก๊าซธรรมชาติส่วนที่ต้องจ่าย ให้ ปตท. และ กฟผ.ในฐานะจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อมาทดในส่วนของ 28,000 ล้านบาท แต่ถ้ายอมให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 6.01 บาท ถือว่า เจ็บแต่จบ เพราะจะใช้หนี้ กฟผ.หมดในงวดเดียว จากนั้นงวดแรก ปี 68 มีโอกาสที่ค่าเอฟทีจะลดลงหน่วยละ 1.80 บาท ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงจากหน่วยละ 6.01 บาท เหลือราวหน่วยละ 4.20 บาทได้”
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่