กดความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่ง การเมืองป่วน-ค่าครองชีพสูง-กำลังซื้อหด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กดความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่ง การเมืองป่วน-ค่าครองชีพสูง-กำลังซื้อหด

Date Time: 12 ก.ค. 2567 06:10 น.

Summary

  • ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยและผู้บริโภคดิ่งต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และ 4 ติดต่อกัน หลังนักธุรกิจ ประชาชน กังวลการเมืองไม่นิ่ง ลุ้นนายกฯได้อยู่ต่อหรือพอแค่นี้! ค่าครองชีพสูง กำลังซื้อหด ภัยแล้งทำผลผลิตเกษตรเสียหาย ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทำคนกังวลใช้จ่าย กดเศรษฐกิจซึม ลั่นในอีก 1–2 เดือนยังไม่มีสัญญาณฟื้น รอรัฐเร่งเบิกจ่ายเงินดิจิทัล หวังเศรษฐกิจปีนี้โต 3%

Latest

ที่ยืนของ “ธุรกิจไทย” แคบลงทุกที ไทยขาดดุล “จีน” สูงขึ้นเรื่อยๆ นำเข้าสินค้า ผ่าน Shopee - Lazada

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน มิ.ย.67 ว่า ดัชนีทั้ง 2 รายการอยู่ในช่วงขาลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยลดลง 2 เดือนติดต่อกัน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง 4 เดือนติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.66 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ก.ย.66 สาเหตุของความเชื่อมั่นลดลงมาจากสาเหตุหลักคือ ค่าครองชีพที่อยู่ระดับสูง ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อาหาร ค่าไฟ โดยน้ำมันเบนซินขึ้นมาใกล้ลิตรละ 40 บาท อีกทั้งเดือน ส.ค.นี้มีแนวโน้มที่ราคาน้ำมันดีเซลจะปรับขึ้นอีกลิตรละ 1 บาท ทำให้กำลังซื้อทั่วไปของประชาชนซึมลง เพราะรายได้หาไม่ง่าย เศรษฐกิจฟื้นช้า บรรยากาศค้าขายซึม นอกจากนี้ การเมืองไม่นิ่งหรือไม่มั่นใจเสถียรภาพการเมือง เพราะรอคำวินิจฉัยของศาล

กรณีนายกรัฐมนตรี จะยังอยู่ในตำแหน่งต่อหรือไม่ หากยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อ นโยบายจะใช้ได้ต่อเนื่องทั้งเงินดิจิทัล ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท แต่ถ้าเปลี่ยนต้องสรรหาใหม่ และไม่รู้ว่าขั้วการเมืองจะเปลี่ยนหรือไม่ อีกทั้งมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะเอากัญชากลับมาเป็นยาเสพติด ทำให้พรรคภูมิใจไทยอาจไม่โหวตให้ ท่าทีของความขัดแย้งนี้ ไม่รู้ว่าจะนำไปสู่การยุบสภาหรือไม่ ส่งผลให้ดัชนีเหมาะสมด้านการเมืองต่ำสุดรอบ 10 เดือน และประชาชนเริ่มตอบถึงการเมืองแย่ในสัดส่วนที่สูงขึ้น

ขณะเดียวกันยังมีปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตเกษตรเสียหาย เงินในมือของเกษตรกรน้อยลง กำลังซื้อในต่างจังหวัดไม่คล่องตัว รวมถึงยังมีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้โลกแบ่งขั้วอย่างชัดเจน กระทบต่อการส่งออก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย โดยปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ทำให้ประชาชนกังวล ไม่กล้าใช้จ่าย และยังไม่เห็นสัญญาณจะฟื้นตัวในช่วง 1-2 เดือนนี้ จึงเป็นทิศทางขาลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ฉุดให้ดัชนีความเหมาะสมของการซื้อบ้านใหม่ รถยนต์ การท่องเที่ยวลดลงมากถึง 5-6 จุด ถือว่าลงแรงและลึกมาก ส่วนความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ผู้ประกอบการเริ่มกลับมากังวลเรื่องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท และการเข้าไม่ถึงเงินกู้

“ช่วง 1-2 เดือนนี้ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยเศรษฐกิจไทยยังซึมตัวจากไตรมาส 2 และยังไม่มีแรงส่งให้ฟื้นในไตรมาส 3 มองว่าครึ่งแรกปีนี้น่าจะโตได้ 1.5% แต่ถ้ารัฐเริ่มอัดเงินงบประมาณมากขึ้นและเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ 75% ตามเป้าหมาย น่าจะทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 3 โตได้ 2-2.5% ฟื้นตัวแบบอ่อนๆ และจะฟื้นเข้มแข็งขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย. ถ้าการเมืองไม่พลิกผัน ไตรมาส 4 น่าจะโตได้ 3-4% และทั้งปีนี้ ยังมีโอกาสโต 2.5% แต่ถ้ามีเงินดิจิทัลเข้ามาแม้จะลดวงเงินลง 50,000 ล้านบาท ก็ยังมีโอกาสที่ทั้งปีจะโตได้ 2.8-3%”

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.67 อยู่ที่ 58.9 ลดจาก 60.5 ในเดือน พ.ค.67, ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันอยู่ที่ 42.8 ลดจาก 44.1, ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ 66.7 ลดจาก 68.4, ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 52.6 ลดจาก 54.3, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ 56.1 ลดจาก 57.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 67.9 ลดจาก 69.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ 54.2 ลดจาก 55.1.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ