ทรูทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉิน กระทรวงดีอี-กสทช.เคาะเปิดให้บริการปี 68

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทรูทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉิน กระทรวงดีอี-กสทช.เคาะเปิดให้บริการปี 68

Date Time: 11 ก.ค. 2567 08:21 น.

Summary

  • นานาอารยประเทศทั่วโลกนำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ (Cell Broadcast Service) มาใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะประเทศที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติบ่อยครั้ง ตั้งแต่แผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด กระทั่งเหตุก่อการร้าย การเตือนอย่างรวดเร็ว ฉับพลันผ่านมือถือ ซึ่งกลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างความปลอดภัยและยับยั้งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างทั่วถึง

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

เนื่องด้วยระบบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast Service ทำงานได้แม้กระทั่งเครื่องมือถือดังกล่าวไม่ได้ใส่ซิม ถูกตัดสัญญาณ เพราะไม่ได้จ่ายค่าโทรศัพท์ หรือแม้ในจุดไร้สัญญาณมือถือ เพราะสามารถรับสัญญาณจากเสามือถือ (Cellsite) ที่เป็น Cellsite ของผู้ให้บริการรายอื่น ที่มีสัญญาณครอบคลุมอยู่ตรงนั้นได้ กรณีเดียวที่ไม่สามารถแจ้งเตือนภัยได้คือกรณีเครื่องถูกปิด

ทรูทดลองระบบแจ้งเตือน 5 ภาษา

ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน Cell Broadcast Service เข้าใกล้ความเป็นจริงขึ้นอีก เมื่อทรู คอร์ปอเรชั่น 1 ใน 2 ผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ของประเทศ ได้เปิดทดสอบระบบ LIVE-Cell Broadcast Service” แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา ให้ผู้ใช้งานทรู-ดีแทคในพื้นที่ได้รับแจ้งเตือนจริง เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยเคยประสบภัยพิบัติทั้งภัยธรรมชาติ อุบัติภัย และภัยจากกรณีกราดยิง ทำให้สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ยิ่งทำให้ภัยธรรมชาติรุนแรงและถี่ขึ้น ซึ่งอาจนำมาสู่ภัยคุกคามและผลกระทบที่คาดไม่ถึง

ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี), สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมอุตุ นิยมวิทยา พัฒนาระบบ Cell Broadcast Service หรือ CBS ขึ้น เป็นเครื่องมือแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน โดยทดสอบระบบในห้องทดสอบปฏิบัติการ (Lab test) สำเร็จเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2567

โดยมีจุดเด่นสำคัญหลายประการ ได้แก่ การแจ้งเตือนได้ทุกภาษาและออกแบบให้ส่งพร้อมกันได้ทันที โดยทดสอบแล้ว 5 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย, ส่งข้อความเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วทันทีที่เกิดเหตุ, กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการส่งข้อความได้อย่างแม่นยำ, ส่งข้อความครอบคลุมผู้ใช้บริการทุกคนในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า และเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับใช้งานในหลายประเทศทั่วโลก

“ระบบ CBS จะมีทั้งสัญญาณเสียงและข้อความที่แสดง (Pop up) บนหน้าจอ และรองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความ ทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือนแก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นอีกด้วย”

เตือนภัยเหตุร้าย–แผ่นดินไหว–ลักพาตัว

ปัจจุบันระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน Cell Broadcast Service ของทรู สามารถตั้งระดับการเตือน 5 ระดับ ตามฟังก์ชันการใช้งานที่ภาครัฐจะกำหนดในอนาคต ประกอบด้วย 1.การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) : การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที

2.การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) ได้แก่ การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น 3.การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert) รวมทั้งการลักพาตัวเพื่อให้เกิดการเฝ้าระวัง สังเกตการณ์และรายงานถ้าพบคนหายหรือคนร้าย

4.ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ได้แก่ ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น 5.การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ได้แก่ ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุ ประสงค์เฉพาะกิจต่างๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่างๆต่อไป

กระทรวงดีอี–กสทช.เคาะได้ใช้ปี 68

ขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดีอี กล่าวว่า กรณีกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนนั้น ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตือนภัยฉุกเฉิน ซึ่งหากมีการแจ้งเตือนตั้งแต่เช้าที่เริ่มเกิดเหตุ ความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ผู้บริสุทธิ์จะไม่มากมายขนาดนั้น เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.ดีอี จึงตั้งใจว่าจะผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ โดยจากการหารือและเป็นแกนนำในการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก เชื่อมั่นว่าระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน Cell Broadcast Service จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ผ่านการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสำนักงาน กสทช.

ด้าน นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การสนับสนุนให้เกิดระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือเป็นนโยบายเร่งด่วนในปีนี้ของ กสทช. เพื่อที่ระบบดังกล่าวจะเปิดให้บริการได้ภายในช่วงกลางปี 2568 โดยขณะนี้ผู้ให้บริการมือถือได้ทดสอบระบบเตรียมความพร้อมแล้ว ทั้งนี้ ระบบแจ้งเตือนภัยจะเชื่อมกับระบบสั่งการของรัฐบาลที่จะเป็นผู้แจ้งเตือนภัยผ่านผู้ให้บริการมือถือ เป็นเทคโนโลยีมาตรฐานสากลที่ใช้แพร่หลายทั่วโลก โดย กสทช.จะสนับสนุนงบประมาณจากเงินบัญชี 3 ของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งจะต้องนำเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช.เพื่ออนุมัติต่อไป วงเงินรวมราว 1,000 ล้านบาท.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ