คนไทยรายได้ไม่ถึง 50,000 บาท/เดือน ไม่กล้า “ซื้อบ้าน” เหตุ กังวลภาระค่าใช้จ่าย อีก 5ปีค่อยตัดสินใจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คนไทยรายได้ไม่ถึง 50,000 บาท/เดือน ไม่กล้า “ซื้อบ้าน” เหตุ กังวลภาระค่าใช้จ่าย อีก 5ปีค่อยตัดสินใจ

Date Time: 10 ก.ค. 2567 10:33 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • เปิดสถานการณ์ “ตลาดที่อยู่อาศัยไทย” EIC เผย กำลังซื้อ ปี 67 ยังฟื้นตัวไม่ดี คนไทยรายได้ไม่ถึง 50,000 บาท/เดือน ไม่กล้า “ซื้อบ้าน” และขอสินเชื่อผ่อนนาน 30 ปี มากขึ้น เหตุ กังวลปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สิน และภาระค่าใช้จ่าย เปรยอีก 5 ปี ค่อยตัดสินใจ ขณะลงทุนอสังหาฯ ปล่อยเช่า ฟื้นตัวช้า

Latest


SCB EIC (ธนาคารไทยพาณิชย์) ออกบทวิเคราะห์ สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ไทย โดยระบุว่า ตลาดที่อยู่อาศัยไทย ปี 2567 อยู่บนความท้าทายรอบด้าน เนื่องจาก ความต้องการซื้อ “บ้าน-คอนโดมิเนียม” ของคนไทย ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้มากนัก จากปี 2566 เพราะปัญหาเศรษฐกิจ และอุปสรรคของการเข้าถึงสินเชื่อ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันสูงสุด 

เจาะผลสำรวจ ออนไลน์ Survey monkey จากกลุ่มตัวอย่าง 2,185 คน พบว่าคนไทยที่ยังไม่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลางลงมา หรือเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว รวมถึงกลุ่มที่รายได้หรือภาระค่าใช้จ่ายไม่เอื้ออำนวย ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าที่จะสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ แม้ในปีนี้ รัฐจะออก 7 มาตรการสนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองหลายข้อก็ตาม 

โดย 1 ในประเด็นที่สนใจ คือ ในผลสำรวจดังกล่าว พบว่าคนไทยกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-ล่าง ไม่เกิน 50,000 บาท/เดือน ยังกังวลเกี่ยวกับรายได้ หรือภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งความต้องการซื้อในช่วงไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า มีสัดส่วนลดลงจากการสำรวจปีก่อนหน้า 

อีกทั้งส่วนใหญ่มองว่าต้องใช้เวลานานกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และมีความพร้อมทางการเงิน ก่อนคิดตัดสินใจซื้อบ้านอีกครั้ง สะท้อนภาพความน่ากังวล และความคาดหวังทางเศรษฐกิจ 

กำลังซื้อ บ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 

ขณะที่ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทลดลง กดดันตลาดที่อยู่อาศัยในภาพรวม ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุสาเหตุหลักของการไม่มีแผนซื้อที่อยู่อาศัยในช่วง 5 ปีข้างหน้าว่า เนื่องจากตนเองหรือคนในครอบครัว เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว และรายได้หรือภาระค่าใช้จ่ายไม่เอื้ออำนวย  

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วม เช่น ค่าครองชีพที่อยู่ยังอยู่ในระดับสูง, อัตราดอกเบี้ยแพง, ภาวะหนี้ครัวเรือน, ข้อจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อ และมองว่าราคาที่อยู่อาศัยสูงเกินไป โดยกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่มีรายได้ระดับปานกลาง-ล่าง มองว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ได้ จึงเลือกที่จะปรับตัว และอยู่อาศัยกับครอบครัวแทน 

“กลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลางลงมา ส่วนใหญ่ยังต้องการสินเชื่อที่ผ่อนชำระระยะยาว โดยผู้ที่ขอสินเชื่อและผ่อนบ้านนานกว่า 30 ปี มีสัดส่วนผู้มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน มากถึง 75% มากกว่าปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 56% เท่านั้น”

สรุปทิศทางอสังหาฯ โดยรวม อาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยกดดันทางเศรษฐกิจได้ส่งผลให้กลุ่มที่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง ตั้งแต่ 30,000 ถึง 100,000 บาทต่อเดือน ที่แม้มีความสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ แต่ยังต้องพิจารณาลดงบประมาณในการซื้อที่อยู่อาศัยลง 

สะท้อนทิศทางการฟื้นตัวในกลุ่มกำลังซื้อระดับปานกลาง ที่แม้จะมีสัญญาณการฟื้นตัวมากขึ้นจากปีก่อนหน้า แต่ปัจจัยกดดันทางเศรษฐกิจ ยังคงกดดันให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ลงทุนอสังหาฯ ฟื้นช้า / แนะรัฐออก 4 มาตรการ กระตุ้นซื้อ-ขาย บ้าน  

ส่วนตลาดที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุน / เก็งกำไร / ปล่อยเช่า SCB EIC พบว่ายังฟื้นตัวได้ไม่มาก จากแรงกดดันด้านกำลังซื้อ และมาตรการ LTV โดยส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนคอนโดฯ ในทำเลกรุงเทพฯ ซึ่งยังคงมีความต้องการจากผู้เช่า กลุ่มที่ต้องการอยู่ใกล้ที่ทำงาน สถานศึกษาของตนเอง และสถานศึกษาของบุตรหลาน และกลุ่มที่งบประมาณไม่พอสำหรับการซื้อเป็นหลัก

สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่คนไทยอยากได้มากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ 

  • สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 
  • การลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย 
  • ปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ขึ้นไป 
  • ผ่อนคลายอัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาที่อยู่อาศัย หรือมาตรการ LTV 

ที่มา : SCB EIC 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ