สรรพสามิตขอ 7 พันล้านอุ้มรถอีวี กขค.ย้ำชัด BYD ไม่ได้ขายต่ำกว่าทุน “ฆ่า” คู่แข่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สรรพสามิตขอ 7 พันล้านอุ้มรถอีวี กขค.ย้ำชัด BYD ไม่ได้ขายต่ำกว่าทุน “ฆ่า” คู่แข่ง

Date Time: 9 ก.ค. 2567 08:40 น.

Summary

  • สรรพสามิต ชง ครม.เร็วๆนี้ของบอีก 7 พันล้านบาท อุดหนุนรถอีวี 3.5 หมื่นคัน ชี้ล่าสุดค่ายรถลงทุนตั้งโรงงานในไทยแล้วมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท และต้องผลิตรถคืนตามมาตรการส่งเสริมรถอีวี 1 แสนคัน สร้างฐานผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ขณะที่ กขค.ยันแล้ว BYD ไม่ผิด ก.ม.แข่งขันทางการค้า

Latest

ฟื้นเฟสใหม่ “เราเที่ยวด้วยกัน” “สรวงศ์” สั่ง ททท.ชงโครงการเสนอนายกฯอิ๊งค์

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมได้ของบประมาณเพื่อจ่ายอุดหนุนการดำเนินมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพิ่มเติมอีก 7,000 ล้านบาท สำหรับรถอีวี 35,000 คัน และเตรียมนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเร็วๆนี้ โดยที่ผ่านมา กรมจ่ายเงินอุดหนุนรอบแรกไปแล้ว 7,000 ล้านบาท คิดเป็นรถอีวี 40,000 คัน ใช้เงินอุดหนุนรวม 14,000 ล้านบาท

สำหรับมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์อีวีนั้นรัฐบาลวางเป้าหมาย ปี 73 มีรถไฟฟ้า 30% ของฐานการผลิตรถยนต์ทั้งหมด เพื่อให้ฐานการผลิตรถยนต์อีวีมาอยู่ในไทย เช่นเดียวกับฐานการผลิตรถยนต์สันดาป กรมจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี 3.0) มาตั้งแต่ปี 65-66 และอีวี 3.5 ในปัจจุบัน โดยอีวี 3.0 ลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% และรัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้คันละ 150,000 บาท แลกกับเงื่อนไขที่ผู้ผลิตจะต้องผลิตรถอีวีจากไทยเป็นการชดเชย แต่ในช่วงแรกให้สามารถนำเข้ารถอีวีได้ ปัจจุบันมี 23 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ

ขณะที่ปี 68 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการต้องผลิตชดเชยตามเงื่อนไข ซึ่งมีโรงงานลงทุนในไทยแล้ว 40,000 ล้านบาท ถือเป็นการรักษาฐานการผลิตให้อยู่ในไทย ตามเงื่อนไขการผลิตรถอีวีชดเชยในไทยชดเชยรถนำเข้ามาในปี 65-66 รวม 100,000 คัน ฉะนั้น ปี 67 บริษัทต้องตั้งโรงงานในไทยและผลิตรถอีวีให้ทันตามเงื่อนไข หากผลิตทันในปีนี้ ทำเพียง 1 เท่า แต่ถ้าไม่ทัน ปี 68 ต้องผลิต 1.5 เท่า คาดว่าปีแรกจะผลิตคืนทัน 80,000-90,000 คัน

ส่วนปี 69 จะต้องผลิตหรือประกอบแบตเตอรี่ในไทย โดยขณะนี้มีเงินลงทุนสำหรับแบตเตอรี่แล้ว 25,000 ล้านบาท หากเอาแบตเตอรี่ชั้นสูงมา การผลิตระดับเซลล์จะต้องเอาชิ้นส่วนต่างๆของรถอีวีมาผลิตด้วย เช่น ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ในรถอีวี การปรับเกียร์ เป็นต้น ล่าสุดมีเงินเตรียมลงทุนในไทยอีกราว 5,000 ล้านบาท

“มาตรการส่งเสริมรถอีวีเป็นการรองรับอุตสาหกรรมใหม่ หากไม่ทำอะไรเลย เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน จากอดีตไทยเคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ก็อาจไม่เหลือเลย ขณะเดียวกัน แม้รายได้จากการจัดเก็บภาษีรถอีวีจะลดลง แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ โดยปัจจุบันไทยผลิตรถสันดาปปีละ 1.6-1.8 ล้านคัน ครึ่งหนึ่งขายในประเทศ อีกครึ่งหนึ่งส่งออก”

นอกจากนี้ กรมได้ศึกษาทบทวนโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ ที่ปัจจุบันเก็บภาษีที่ 8% และล่าสุด เตรียมเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา “ข้อสรุปเบื้องต้นคือกรมจะใช้มาตรฐานทั้ง 2 ส่วนในการพิจารณาเก็บภาษีแบตเตอรี่ ทั้งด้านคุณภาพสูง ชาร์จได้หลายครั้งและใหญ่ เช่น 150 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง รวมทั้งการรีไซเคิลได้ ซึ่งจะเก็บต่ำกว่า 8% ส่วนแบตเตอรี่ที่ใช้ได้ครั้งเดียวแล้วทิ้งจะเก็บสูงกว่า 8%”

ส่วนการเก็บภาษีสรรพสามิตในปีงบ 67 (เดือน ต.ค.66-มิ.ย.67) เก็บได้ 400,000 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 12.3% แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย เป็นผลจากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน 25,000 ล้านบาท โดยเก็บภาษีบุหรี่ลดลง 8,000 ล้านบาท และเก็บภาษีรถยนต์ลดลง 25,000 ล้านบาท

ด้านนายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กล่าวถึงกรณีรถอีวีจากจีนคือ BYD ลดราคาขายในไทยหลายแสนบาทว่า เบื้องต้นพบว่า BYD ไม่ได้ขายรถอีวีในไทยในราคาต่ำกว่าทุนเพื่อฆ่าคู่แข่ง แต่น่าจะ ยอมขาดทุนกำไร และไม่ได้บังคับให้ซัพพลายเออร์ ลดราคาขายชิ้นส่วน หรืออะไหล่รถยนต์ให้ จึงไม่เข้าข่ายทำผิดตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 เพราะราคาขายในไทยยังแพงกว่าราคาที่ขายในจีน อีกทั้งการลดราคาไม่ได้ทำลายคู่แข่ง แต่ทำให้เกิดการแข่งขัน และผู้บริโภคได้ประโยชน์.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ