ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเปิดลงทะเบียนร้านค้าเพื่อเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตภายในเดือน ก.ค.นี้ โดยเบื้องต้นได้กำหนดเป้าหมายร้านค้าขนาดเล็กรายย่อยเข้าร่วมกว่า 1.4 ล้านราย แบ่งเป็นร้านค้าที่มีข้อมูลในส่วนกระทรวงพาณิชย์ ที่จดทะเบียนนิติบุคคล และบุคคลธรรม 910,000 ราย ร้านธงฟ้า ร้านอาหารธงฟ้า 150,000 ราย ทั่วประเทศ 878 อำเภอ นอกจากนั้น จะมีร้านค้าโชห่วย ร้านอาหาร หาบเร่แผงลอย ตลาดนัด ของกระทรวงมหาดไทย 400,000 ราย กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 90,000 ราย
สำหรับขั้นตอนลงทะเบียนจะใช้เลขบัตรประชาชน หรือเลขทะเบียนนิติบุคคล หมายเลขโทรศัพท์ สถานที่ตั้งร้านค้า รูปถ่ายร้านค้า ประเภทสินค้า โดยเปิดให้ลงทะเบียนได้ 2 ช่องทาง คือ ผ่านธนาคารของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วม สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กับองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) ประจำจังหวัด และอีกช่องทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐที่กำลังอยู่ระหว่างพัฒนา โดยคาดว่าจะเปิดรับสมัครได้ภายในปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้า
โดยร้านค้าขนาดเล็กที่เป็นแฟรนไชส์ เช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดต่างๆ สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยเงื่อนไขที่ห้ามร้านเฉพาะ ซุปเปอร์มาร์เกต ไฮเปอร์มาร์เก็ตเช่นเดิม และจากการสอบถามร้านค้าต่างๆและประชาชนในพื้นที่ ส่วนใหญ่สะท้อนว่าเศรษฐกิจซบเซา ยอดขายน้อยลงกว่าเดิม และเห็นว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ร้านค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เกิดการหมุนเวียนของเงินในพื้นที่ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตช้า กรุงเทพโพลล์ที่ร่วมกับคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งได้สำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง “คนไทยคิดอย่างไรกับโอกาสในการเป็นเจ้าของธุรกิจ ประจำไตรมาสสองของปี 2567” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,228 คน พบว่า ประชาชนเห็นโอกาสหรือความพร้อมสำหรับการริเริ่มธุรกิจในอนาคตมากที่สุด คิดเป็น 43.9% ลดลง 8.4% จากการสำรวจครั้งก่อนหน้า รองลงมาคือ มีความตั้งใจที่จะประกอบธุรกิจในอนาคตข้างหน้า คิดเป็น 42.6% ลดลงจากครั้งก่อน 2.5% และมีความรู้ความสามารถรวมถึงทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นในการที่จะเริ่มทำธุรกิจใหม่ คิดเป็น 38.7% ลดลง 5.9%
ขณะที่ประชาชนเห็นว่าไม่อยากลงทุนทำธุรกิจเพราะกลัวความล้มเหลว คิดเป็น 59.9% เพิ่มขึ้น 3.5% ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม่กล้าเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง พบว่าส่วนใหญ่ 50.4% กลัวล้มเหลว กลัวขาดทุน รองลงมาคือ ปัญหาข้าวของราคาแพง ค่าครองชีพสูง คิดเป็น 45.1% ไม่มีเงินทุนมากพอ คิดเป็น 43.6% น้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆราคาสูงขึ้น คิดเป็น 31.1% และขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ คิดเป็น 27.0%.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่